มร.โซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฟูจิฟิล์มได้ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการยุติการแพร่ระบาดของวัณโรค โดยร่วมทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ ในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลกเพื่อนำเสนอ FDR Xair System นวัตกรรมเครื่องเอกซเรย์แบบพกพาขนาดเล็กพร้อมระบบประมวลผล AI เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองวัณโรคได้อย่างสะดวก แม่นยำ รวดเร็ว โดยทีมแพทย์สามารถพกไปออกตรวจในชุมชนได้ ใช้เวลาตรวจรวดเร็วเพียง 1 นาที มีความแม่นยำเหมือนกับเครื่องเอกซเรย์ตัวใหญ่ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมดูแลช่วยเหลือด้านการใช้งานและติดตั้งอย่างต่อเนื่อง ภายใต้จุดมุ่งหมายใหม่ของฟูจิฟิล์มทั่วโลกในการ “แต่งแต้มรอยยิ้มให้โลกของเรา” พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาทางสังคมและสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีขึ้นให้แก่ผู้คนทั่วโลก รวมถึงขับเคลื่อนเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้คนอีกมากมายผ่านนวัตกรรม
ทั้งนี้ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด โดยเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพาจาก “ฟูจิฟิล์ม” ได้รับความไว้วางใจจากโครงการคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในชุมชน “ดุสิตโมเดล” หลังกองวัณโรค กรมควบคุมโรค เร่งขับเคลื่อนแผนการยุติวัณโรค “YES! We Can End TB ยุติวัณโรค เราทำได้” ด้วยการผนึกกำลังกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลและกรุงเทพมหานคร นำนวัตกรรมล้ำสมัยอย่าง FDR Xair System เครื่องเอกซเรย์แบบพกพาที่มาพร้อม AI จากฟูจิฟิล์ม ซึ่งจัดซื้อผ่านกองทุนโลก ไปใช้ในภารกิจคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในชุมชนดุสิตโมเดล เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงของการติดเชื้อวัณโรคในไทย พร้อมเน้นย้ำการตรวจคัดกรองเชิงรุกเป็นหัวใจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการยุติวัณโรคของประเทศ
พญ.ผลิน กมลวัทน์ แพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ที่ปรึกษาและอดีตผู้อำนวยการกองวัณโรค กล่าวว่า สถานการณ์วัณโรคล่าสุดในไทยมีผู้ป่วยวัณโรค 155 คนต่อประชากรแสนคน และคาดว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ในไทยปีละกว่า 111,000 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 12,000-14,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 40 คนต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยประเทศไทยมีแผนการยุติวัณโรค ซึ่งเป้าหมายคือการควบคุมตัวเลขผู้ป่วยให้เหลือต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2578 แต่ปัจจุบันสถานการณ์ยังน่ากังวลอยู่มาก ความท้าทายหลักที่ต้องสร้างความตระหนักรู้คือ โรคนี้ใช้เวลาฟักตัวนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปจนอาจนานถึง 5-10 ปี
"หลายคนไม่แสดงอาการดังนั้นการใช้เครื่องเอกซเรย์ปอดดูความผิดปกติเป็นสิ่งจำเป็นในการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยให้เจอและรักษาให้หาย ถือเป็นหัวใจของการต่อสู้กับโรคนี้ หากมีการใช้เครื่องเอกซเรย์พกพาในพื้นที่เสี่ยง ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองได้เป็นอย่างดี ซึ่งล่าสุดกองวัณโรคได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund) ในการต่อสู้กับวัณโรค จึงได้จัดซื้อเครื่องเอกซ์เรย์แบบพกพาทั้งสิ้น 16 เครื่อง และได้ส่งมอบให้แก่หลายโรงพยาบาลเพื่อใช้การคัดกรองวัณโรคเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ระหว่างการออกตรวจในชุมชน เมื่อพบความผิดปกติที่ปอด จะส่งต่อไปตรวจเสมหะเพื่อยืนยันผลการติดเชื้อทันที จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการรับประทานยาทุกวันจนครบ 6-8 เดือนก็สามารถหายจากโรคได้ ถ้าทำให้การออกตรวจคัดกรองเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ เราจะเจอผู้ป่วยได้อีกมากและขยับใกล้เป้าหมายการยุติวัณโรคมากขึ้น”
นายแพทย์พิภู ถาวรชีวิน อาจารย์สาขาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ที่มาของดุสิตโมเดลและการตรวจคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในเขตกทม.เป็นโครงการชุมชนต้นแบบด้านบริการสุขภาพเขตเมืองในโรคต่างๆ ที่เชื่อมต่อการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขในชุมชนกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลโดยตรง ชุมชนดุสิตโมเดล ดูแลประชากรในพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตบางซื่อ และเขตบางพลัด ทำงานร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 4 แห่งในพื้นที่ซึ่งมีประชากรที่ดูแลอยู่ประมาณ 180,000 ราย หนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะชุมชนเขตเมืองที่มีความแออัดพบว่าวัณโรค เป็นภัยเงียบที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ผู้ป่วยจำนวนมากไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ การตั้งรับรอผู้ป่วยเข้ามาโรงพยาบาลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ
ฉะนั้น จึงริเริ่มโครงการคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในชุมชนดุสิตโมเดล (TB V Find) ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนจากกองวัณโรค และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยอาศัยเครื่องเอกซเรย์แบบพกพาทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่แออัดที่เข้าถึงได้ยาก ประชาชนสามารถเข้ารับการคัดกรองเอกซเรย์โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล อีกทั้งยังผสานปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรค เมื่อพบความผิดปกติของปอด จะมีระบบส่งต่อผู้ป่วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เป๋นแนวทางการยุติวัณโรคในชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน พร้อมจะเร่งเดินหน้าโครงการตรวจคัดกรองวัณโรคเชิงรุกต่อไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในดุสิตโมเดล ด้วยเป้าหมายในการยุติการระบาดของวัณโรคในประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด
“สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ การช่วยกันสร้างความตระหนักรู้เรื่องวัณโรค วัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ สามารถรักษาได้ฟรีทุกสิทธิ์การรักษาโดยการรับประทานยาเฉลี่ยนาน 6 เดือน และจริงๆ แล้วหากผู้ป่วยเริ่มรักษาจนพ้นระยะ 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ระยะปลอดภัย ไม่เกิดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ และอาการที่สงสัยวัณโรคและควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการเอกซเรย์ในทุกที่ ได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกัน 2 สัปดาห์, น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีไข้ต่ำๆ ตอนกลางคืน โดยเฉพาะประชาชนที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคในช่วง 3 เดือนควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์ทุก 6 เดือนจนครบ 2 ปี การป้องกันวัณโรคที่ดีที่สุด คือ การรักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยเป็นวัณโรคได้มาก แม้ว่าวัณโรคจะยังไม่หายไปจากสังคมไทยในเร็ว ๆ นี้ แต่หากเราช่วยกันสร้างความเข้าใจ รู้เท่าทันวัณโรค เราจะใกล้เป้าหมายยุติวัณโรคได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน”
พญ.ณัฐินี อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีโครงการนำรถเอกซเรย์เคลื่อนที่เข้าค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในพื้นที่เสี่ยง เช่น โรงงาน และชุมชนอยู่เป็นประจำ ซึ่งเมื่อตรวจพบผู้สงสัยว่าเป็นวัณโรค จะนัดมาตรวจเสมหะ ซึ่งหากวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค ผู้ป่วยทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ สามารถเข้าสู่ระบบและรับการรักษาฟรีได้เลย ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง โดยมีคลินิกแม่ข่ายวัณโรคอยู่ 19 แห่งใน กทม. ซึ่งมีแพทย์และพยาบาลที่ได้รับการอบรมเพื่อรักษาวัณโรคโดยเฉพาะปัจจุบัน พบว่าระบบเอกซเรย์รุ่นใหม่มีขนาดเล็กลงมากและมีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากขึ้น ช่วยให้ออกหน่วยตรวจในชุมชนได้แบบไม่ต้องใช้รถคันใหญ่ๆ มีประโยชน์ในชุมชนแออัดที่รถใหญ่เข้ายาก ซึ่งหากเรานำเครื่องเอกซเรย์แบบพกพานี้มาใช้อย่างแพร่หลาย คาดว่าการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนแออัดจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายแพทย์ธีรฉัฐ ไชยธวัชพงษ์ นายแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ กล่าวว่า อย่างสถานการณ์วัณโรคในชุมชนเขตพื้นที่เขตบางซื่อที่มีผู้ป่วยวัณโรคราว 50 รายต่อปี และผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิดและวัณโรคแฝง อีกราว 150 ราย ละตัวเลขมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆ ปี เพราะหลายพื้นที่ของเขตเป็นชุมชนแออัดโดยหัวใจสำคัญของการหาผู้ป่วยให้เจอ คือการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองภายในชุมชน เพราะต้องเข้าใจว่าการเดินทางไปยังศูนย์ฯ หรือโรงพยาบาล มีค่าใช้จ่ายที่ประชาชนอาจไม่พร้อมแบกรับ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาให้ได้เยอะและเร็วที่สุด จึงต้องร่วมกันออกตรวจเชิงรุก ซึ่งเป็นวิธีการยุติวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด