กรมการแพทย์ แนะวิธีรับมือ “ก๊าซแอมโมเนียรั่ว” ย้ำอันตราย ไร้ยาต้านพิษ

18 เม.ย. 2567 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2567 | 07:27 น.

กรมการแพทย์ แนะวิธีรับมือ “ก๊าซแอมโมเนียรั่ว” ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ หลอดลมตีบ บวม ไหม้ เยื่อบุตาขาวอักเสบ ตาบอดชั่วคราว ถึงขั้นหยุดหายใจ ชี้ยังไร้ยาต้านพิษเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการ

จากเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานผลิตน้ำแข็ง  อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สั่งห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องและประชาชนเข้าใกล้สถานที่เกิดเหตุเป็นระยะระยะทาง 1 กิโลเมตรนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้กรมการแพทย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ก๊าซแอมโมเนียส่งผลต่อร่างกายพบอาการเฉียบพลัน ได้แก่

  • ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ คือ มีอาการไอและมีหลอดลมตีบ อาการทางเดินหายใจส่วนบนบวมหรือไหม้ หายใจดังวี๊ด หอบเหนื่อย หรือขาดออกซิเจนได้
  • ผลกระทบต่อดวงตา คือ ส่งผลให้เยื่อบุตาขาวอักเสบ น้ำตาไหล ระคาย เคืองกระจกตา ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ ผิวหนัง คือ เกิดการระคายเคืองหรือไหม้ได้
  • ผลกระทบระยะยาว ได้แก่  ผู้ที่สัมผัส (มักพบในกรณีผู้ทำงานในโรงงาน) เป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อยขึ้น เอกซเรย์ปอดผิดปกติหรือตรวจการทำงานปอด ผิดปกติ มีรายงานการเกิดพังพืดในปอด ทั้งนี้ ในส่วนของอุบัติภัยการรั่วไหลมักจะเกิดอาการแบบเฉียบพลันเป็นส่วนใหญ่

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์

อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วยเพื่อความปลอดภัย

 

ด้านนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า

ข้อแนะนำในการปฐมพยาบาล การสูดดมแอมโมเนียเข้าไป ได้แก่

1. รีบนําผู้ประสบเหตุออกจากที่เกิดเหตุไปอยู่บริเวณเหนือลม และมีอากาศถ่ายเท สะดวกโดยเร็วที่สุด

2. ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ

3. ถ้ายังหายใจ ให้คลายเสื้อผ้าให้หลวม ปลดเข็มขัดหรือเสื้อชั้นใน ถ้ามีเหงื่อออก ให้เช็ดตัว ถ้ารู้สึกตัวให้ดื่มนํ้าหรือเครื่องดื่มเย็นๆ ถ้าหายใจขัดควรให้ออกซิเจน แต่ถ้าหยุดหายใจต้องช่วยผายปอดจนกว่าจะหายใจสะดวก ห้ามใช้วิธีผายปอด ด้วยวิธีเปาปาก

4.หากผู้ประสบเหตุหายใจเอาสารแอมโมเนียเข้าไป ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิด มีที่ครอบให้อากาศแบบวาล์วทางเดียว (One-way valve) หากการสัมผัสทางผิวหนัง ควรถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับออกให้หมด ล้างด้วยนํ้าให้มาก ๆ อย่างน้อย 15 นาที ล้างบริเวณที่สัมผัสถูกสารด้วยนํ้าที่ไหลผ่านจํานวนมากจนแน่ใจว่าออกหมด

กรณีการรับสารทางปาก ให้ดื่มนํ้ามาก ๆ ห้ามทําให้อาเจียน ถ้าหมดสติ ควรจัดให้นอนหงายราบเอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งสังเกตการหายใจ และจับชีพจรที่คอ หรือขาหนีบ ถ้าหยุดหายใจต้องทําการปั้มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต และรีบนําส่งโรงพยาบาลทันที

กรมการแพทย์ แนะวิธีรับมือ “ก๊าซแอมโมเนียรั่ว” ย้ำอันตราย  ไร้ยาต้านพิษ

หากสารเข้าดวงตา ควรตะแคงเอียงหน้าเอาคอนแทคเลนส์ออก (ถ้ามี) แล้วล้างตาด้วยนํ้าสะอาดจํานวนมากจากหัวตามาหางตาจนกว่า จะไม่เคืองตา ห้ามขยี้ตา ควรล้างนํ้าอย่างน้อย 30 นาที แล้วรีบนําส่งโรงพยาบาลทันทีเช่นกัน สำหรับวิธีการรักษา เป็นการรักษาตามอาการและไม่มียาต้านพิษเฉพาะ  

นายแพทย์กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์มีสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ที่พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนที่ประสบเหตุและประชาชนในพื่นที่โดยรอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขภาพที่ถูกต้อง