รพ.เด็กสมิติเวช สุขุมวิท จัดกิจกรรม “Dengue Zero Day” ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและวิธีป้องกัน เพื่อปกป้องลูกหลานให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก ที่คาดว่าจะมีการระบาดหนักในปี 2567 ซึ่งพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 20,590 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี ฉะนั้น การมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจะช่วยให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก และอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันโรคคือ "การฉีดวัคซีน" เพื่อลดการเจ็บป่วยและการนอนโรงพยาบาล เพราะไข้เลือดออกไม่มียารักษาและรักษาตามอาการเท่านั้น
พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และรพ.บีเอ็นเอช และผู้อำนวยการ รพ.เด็กสมิติเวช กล่าวว่า กลุ่ม รพ. สมิติเวช เน้นย้ำในเรื่อง Early Care ป้องกันและส่งเสริมการดูแลสุขภาพก่อนมีอาการเจ็บป่วย #เราไม่อยากให้ใครป่วย โดยช่วงนี้เป็นช่วงที่โรคไข้เลือดออกระบาด เป็นโรคที่มีความรุนแรงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอัตราการเกิดซ้ำ ในรายที่เป็นหนักอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงต้องช่วยกันรณรงค์ ไม่ว่าจะเป็น กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะ หรือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด และวันนี้การมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดจำนวนผู้เสียชีวิต และลดจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยได้
ปัจจุบัน มีขวนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ซึ่งวัคซีนชนิดใหม่นี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้สูงถึง 80.2% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 90.4% โดยฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน และสามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกโดยที่ไม่ต้องทำการตรวจเลือดก่อน ฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 4 ปี ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุไม่เกิน 60 ปี อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอาจมีปวดบริเวณที่ฉีด แต่อาการจะหายได้ภายใน 2-3 วัน การฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพ และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายหากติดเชื้อแล้วต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
พญ.ภัสสร บุณยะโหตระ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็ก รพ.เด็กสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) 1 ใน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายกัดและดูดเลือดของผู้ที่มีเชื้อไวรัสเดงกีช่วงที่ไวรัสแพร่กระจายในกระแสเลือด และยุงลายที่เป็นพาหะไปกัดผู้อื่น เชื้อไวรัสเดงกีจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกกัดจนทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส และสามารถเป็นโรคนี้ได้มากกว่า 1 ครั้ง หากการติดเชื้อครั้งที่ 2 อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และอาจเสียชีวิตได้หากมาพบแพทย์ไม่ทัน
สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกในเด็ก มีตั้งแต่ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ติดเชื้อไข้เลือดออก หากมีไข้สูงลอยตั้งแต่ 3-7 วัน จะอยู่ในระยะวิกฤติ อาจเกิดภาวะช็อก หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และอาจเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการบุตรหลาน หากพบว่ามีความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยควรมาพบแพทย์ทันที เพื่อการวินิจฉัยที่ทันท่วงที
"เมื่อแพทย์ยืนยันผลการตรวจพบโรคไข้เลือดออก จะเริ่มทำการรักษาด้วยการช่วยให้ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อกลับเข้าสู่สภาวะปกติเร็วที่สุด และป้องกันภาวะช็อก ด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือด หรือให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำ ให้รับประทานยาแก้ปวด ลดไข้ ดื่มผงเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ ให้เลือด ในกรณีมีเลือดออกมาก จำเป็นต้องมีการเจาะเลือดเป็นระยะเพื่อตรวจค่าเลือด เฝ้าระวังภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวลดต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มข้น หรือความดันโลหิตต่ำ และหากลูกน้อยป่วยเป็นไข้เลือดออก นอกจากค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ต้องเสียแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องสละเวลามาเพื่อดูแล ซึ่งอาจทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงานที่ตามมา ดังนั้น การป้องกันโรคจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความใส่ใจ"