หลังจากที่สมิติเวชจับมือโรงพยาบาลซาโน โรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้องจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจ วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารแบบครบวงจร โดยปีที่ผ่านมาสมิติเวชมีการแลกเปลี่ยนแพทย์ระบบทางเดินอาหารไปศึกษาดูงานและเรียนรู้เทคนิคด้านการส่องกล้องเพิ่มเติม ณ โรงพยาบาลซาโน ประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยให้ความไว้วางใจมากขึ้น
สถาบันโรคตับและระบบทางเดินอาหาร จัดประชุมวิชาการ Pancreatic Insight 2023โดยเชิญ ศ.นพ.ยาซูชิ ซาโน และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารชั้นนำของประเทศไทย อาทิ รศ.นพ.วรายุ ปรัชญกุล ศ.นพ.สุพจน์ พงศ์ประสบชัย และผศ.นพ.ภัทรพงศ์ กมลวภรณ์ เพื่อต่อยอดพัฒนาวงการแพทย์ไทย เพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย รักษา และป้องกันก่อนเกิดโรค
โดยจัดการบรรยายให้ความรู้และกิจกรรม Work Shop พิเศษที่น่าสนใจดังนี้
• Advanced Imaging and Artificial Intelligence in Endoscopy : อัปเดตข้อมูลเทคโนโลยี AI ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารระดับแอดวานซ์ ประโยชน์คือ เพิ่มความสามารถการตรวจ วินิจฉัย และรักษาได้อย่างแม่นยำและตรงจุดมากขึ้น โดย ศ.นพ.ยาซูชิ ซาโน
• Work Shop: Hand – On work Shop for Gastroenterologist EUS for non – advanced endoscopist โดย ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารชั้นนำของประเทศไทย เรื่องการตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ เพื่อดูเยื่อบุด้านในของระบบทางเดินอาหารจะเห็นภาพที่มีรายละเอียดของผนังทางเดินอาหารทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยตับอ่อน ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี
โดยเฉพาะตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกภายในช่องท้อง จึงไม่สามารถพบได้จากการตรวจร่างกายทั่วไป หากพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเริ่มหรือตรวจพบชิ้นเนื้อก็สามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจได้โดยใช้กล้องขนาดเล็ก (endoscope) คนไข้ไม่ต้องผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ลดความเสี่ยง ไร้แผล ฟื้นตัวเร็ว แพทย์หาวิธีรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประโยชน์ของการตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์คือ
1.ทำให้แพทย์เห็นภาพลักษณะทางเดินอาหารได้ชัดเจนมากขึ้น ใช้ในการตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นอยู่ เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ
2.ใช้ในการประเมินความผิดปกติ เช่น การเติบโตของก้อนเนื้อที่ตรวจพบก่อนการส่องกล้องหรือเอกซเรย์ โดยทำให้แพทย์เห็นภาพของก้อนเนื้อได้ชัดเจน สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่
3. ใช้ในการตรวจวินิจฉัยตับอ่อน ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี หากการตรวจด้วยวิธีอื่นแล้วยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด
4.ช่วยให้แพทย์ทราบถึงระยะของมะเร็งที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ ว่ามะเร็งได้กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะสำคัญใกล้เคียงอื่นๆหรือไม่ เพื่อหาวิธีและการรักษาที่เหมาะสม
ศ.ดร.นพ.ยาซูชิ ซาโน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลซาโน และผู้อำนวยการสถาบันส่องกล้องระบบทางเดินอาหารจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่างหรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ได้ถูกใช้เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างแพร่หลายตามคำแนะนำของแพทย์ในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลทางสถิติที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อการคัดกรองมะเร็ง จึงมีความจำเป็นต่อการรักษาสุขภาพโดยรวมในโลกปัจจุบัน กรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยที่มีต่อการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้การส่องกล้องเป็นเรื่องปกติของการตรวจสุขภาพและไม่ใช่เรื่องที่น่าอายหากเราต้องการจะดูแลสุขภาพของตนเอง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า โรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและทำให้เสียชีวิตมากกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่นๆในร่างกาย มะเร็งบางชนิดมาอย่างเงียบๆ ไม่แสดงอาการแรกเริ่มให้เห็น คือมะเร็งตับอ่อน เพราะอาการเริ่มแรกมักไม่จำเพาะเจาะจง อาจมีเพียงอาการปวดท้อง
จนกว่ามะเร็งจะมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถผ่าตัดออกได้หรือพบในระยะแพร่กระจายไปแล้ว กว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายเกินไป และเนื่องจากตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกภายในช่องท้อง จึงไม่สามารถพบได้จากการตรวจร่างกายทั่วไป ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนจึงน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ