7 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการฟื้นฟูผู้ป่วยทางงานกิจกรรมบำบัด เปิดให้บริการคลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้น (Occupational therapy intensive clinic) ในปี พ.ศ. 2560
สำหรับให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ที่มีพยาธิสภาพที่สมอง (Acquired Brain Injury) ระยะเวลาการเกิดโรคไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีโอกาสฟื้นตัวได้มาก ซึ่งการฟื้นฟูในช่วง 6 เดือนแรก ในทางการแพทย์ถือว่า เป็นช่วงเวลาทอง (Golden period) ของการฟื้นฟู
ทั้งนี้ การฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพที่สำคัญต่อผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่สมอง เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของสมองและกล้ามเนื้อ ลดความพิการซ้ำซ้อน หรือเกิดความพิการน้อยที่สุด โดยผู้รับบริการจะได้รับการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้นอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของตนได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุดตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้รับบริการ
คลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้น มีรูปแบบการให้บริการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดด้วยเทคนิคที่หลากหลายบนพื้นฐานของการเลือกสรรกิจกรรมการฟื้นฟูที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสม และมีคุณค่าต่อผู้รับบริการ มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน มีการฝึกต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ และมีการปรับระดับความยาก - ง่ายของกิจกรรมให้เหมาะสม
นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวรยางค์ส่วนบนและฟื้นฟูทักษะความสามารถการหยิบจับวัตถุ เช่น Constraint-induced movement therapy (CIMT), Mirror Therapy, เทคนิค Repetitive facilitation exercise (Kawahira Method) เป็นต้น
ด้านแพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยเทคนิคที่นำมาใช้เป็นเทคนิคที่มีหลักฐานงานวิจัยรองรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับสากล อีกทั้งนำเครื่องมือพิเศษซึ่งเป็น Computer based therapy, Robotic based therapy และ Virtual reality based therapy มาใช้ร่วมกับการฟื้นฟูรยางค์ส่วนบน ส่งเสริมแรงจูงใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟู
ทั้งนี้ สัดส่วนการให้บริการระหว่างนักกิจกรรมบำบัดต่อผู้รับบริการอยู่ที่นักกิจกรรมบำบัด 1 คนต่อผู้รับบริการไม่เกิน 2 คน ระยะเวลาในการการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้นเป็นรายครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ความถี่ในการรับบริการ 4 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยนักกิจกรรมบำบัดในคลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้นเป็นผู้มีผู้ความชำนาญและประสบการณ์สูงในด้านการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด โดยผ่านการพัฒนารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านทักษะความสามารถในการฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยเทคนิควิธีการต่าง ๆ ด้านการทำวิจัย และด้านการเผยแพร่องค์ความรู้
สำหรับด้านทักษะความสามารถนั้น นักกิจกรรมบำบัดในคลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้นได้ผ่านการอบรมเทคนิคการฟื้นฟู Repetitive facilitation exercise (Kawahira Method) จาก Laboratory of KAWAHIRA ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการฟื้นฟูรยางค์ส่วนบนที่มีประสิทธิภาพ ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นและในต่างประเทศ ซึ่งได้มีการนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้ในการให้บริการการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด
สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ด้านการศึกษาวิจัย ได้มีการศึกษาประสิทธิผลของการนำเทคนิคพิเศษต่าง ๆ มาใช้ในการฟื้นฟู เช่น การศึกษาประสิทธิผลของการใช้เทคนิคกระจกบำบัดร่วมกับการฝึกกิจกรรมบำบัดต่อการฟื้นฟูรยางค์ส่วนบนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, ประสิทธิผลของเทคนิค Repetitive facilitation exercise ในการฟื้นฟูความสามารถด้านการเคลื่อนไหวระยะทางส่วนบนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานวิจัย)
ด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ คลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้น ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การฟื้นฟูโดยใช้เทคนิคพิเศษในรูปแบบวิทยากรการอบรมให้แก่นักกิจกรรมบำบัดและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นต้นแบบและกระจายองค์ความรู้ไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ในระดับจังหวัดและชุมชน
ปัจจุบันคลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้น สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ เปิดให้บริการคลอบคลุมทั้งผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) โดยมีนักกิจกรรมบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญในการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับให้บริการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด พร้อมทั้งมีสถานที่ อุปกรณ์การฟื้นฟู เทคนิคและเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นแบบบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายในผู้ที่มีพยาธิสภาพที่สมอง