ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดยาในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับจากการผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และการฟื้นตัวกลับมาของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้แนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้ผู้ป่วยกลับมาใช้บริการที่โรงพยาบาลและคลินิก ส่งผลให้ความต้องการยาและเวชภัณฑ์โดยรวมเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยาไทยยังเผชิญความท้าทาย ด้านการแข่งขันผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งไทยและต่างชาติเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้กดดันราคาและกำไร ประกอบกับศักยภาพการผลิตยาที่จำเป็นยังต่ำ เนื่องจากประเทศไทยยังพึ่งพาการนำเข้ายาจำนวนมาก ส่งผลต่อความมั่นคงด้านยาและความสามารถในการแข่งขัน สำหรับปีนี้ BLC เผยแผนลงทุนระยะ 3 ปี (2567-2569) มูลค่า 825 ล้านบาท มุ่งพัฒนาศักยภาพการผลิตยาเม็ดของบริษัทให้บรรลุเป้าหมาย 960 ล้านเม็ดต่อปี พร้อมตั้งเป้ารายได้ 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2569
โดยปีนี้แบ่งงบลงทุน 200 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างอาคารผลิตยาใหม่ ประกอบด้วยโกดังเก็บวัตถุดิบขนาด 5,590 ตารางเมตร และโรงงานผลิตขนาด 8,600 ตารางเมตร ซึ่งการลงทุนครั้งนี้มุ่งเน้นขยายกำลังการผลิตยาเม็ดของบริษัท รองรับความต้องการยาที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศและภูมิภาค โดยโรงงานผลิตยาใหม่นี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2568
นอกจากนี้ยังคงเน้นขยายกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) เป็นตลาดหลักที่บริษัททำการตลาดยา โดยปีนี้กำลังมองตลาดจีนเริ่มมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีศักยภาพสูง ประชากรจีนมีจำนวนมาก เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคนจีนเริ่มให้ความสนใจกับยาสมุนไพรมากขึ้น
โดยบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมในภาพรวม ด้วยกลยุทธ์การเน้นผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรเพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรเพื่อให้ประชาชนคนไทย สามารถเข้าถึงยาและการรักษาได้ง่ายและมากขึ้น ลดการพึ่งพาการซื้อยา หรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมด้านสมุนไพรไทยเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติทั่วโลก
ทั้งนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ จำหน่ายผ่านช่องทางผู้ประกอบการ (B2B) เช่น ร้านขายยา โรงพยาบาลรัฐและเอกชน บริษัทเอกชน ร้านค้าปลีก ในและต่างประเทศ รวมถึงจาหน่ายสินค้าให้แก่ ผู้บริโภคโดยตรง (B2C) ผ่านช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและช่องทางออนไลน์
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน และผู้จัดการทั่วไป – ฟิลิปปินส์, อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในฐานะผู้จัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2024 (CPHI South East Asia 2024)” เปิดเผยว่า สถานการณ์ประชากรสูงอายุในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณการเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี โดยแยกเป็นรายปีจะพบว่า ปี 2567 สังคมไทยจะมีผู้สูงวัย 18.3% จากนั้นเพิ่มเป็น 19.7%ในปี 2568 และ 21.1% ปี 2569 จนไปถึงปี 2573 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society)
นั่นหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมีเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อดูแลสุขภาพ และรักษาอาการผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งต้องการยาที่มีคุณภาพมาทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความต้องการจากตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากปัจจัยที่กล่าวมานี้ทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
สำหรับไฮไลต์ นวัตกรรมและสินค้าที่จะนำไปจัดแสดงในงาน CPHI South East Asia 2024 ประกอบด้วย สมุนไพรไทยคุณภาพสูง โดยพิถีพิถันคัดสรรสมุนไพรไทยที่ปลูกโดยเกษตรกรไทย นำมาสกัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้ได้สารสกัดที่มีคุณภาพ สามารถควบคุมปริมาณสารสำคัญให้คงที่ ปราศจากตัวทำละลายตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม