BLC ปักหมุดศูนย์วิจัยอัพเกรดสมุนไพรไทย ตีตลาดโลก

26 ก.ค. 2566 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2566 | 08:56 น.

“บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค” โชว์ศูนย์วิจัย BLC Research Center สร้างนวัตกรรมสมุนไพรไทย รุกขยาย CLMV ตะวันออกกลาง รับเมกะเทรนด์สุขภาพ

ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) (BLC) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาระหว่างปี 2566-2568 มีอัตราการเติบโต 5.0-6.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

รวมถึงจำนวนผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลในประเทศไทย ช่วยสนับสนุนความต้องการการใช้ยามากขึ้น รวมทั้งกระแสการใส่ใจสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการระบาดรุนแรงของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจจะอุบัติใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะยาเสริมภูมิคุ้มกันหรือยาป้องกันโรค เช่น วิตามิน ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่มโภชนาการ ส่งผลให้ดีมานด์ยาเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์

“BLC เล็งเห็นเทรนด์ด้านสุขภาพที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) จึงมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนายาสามัญใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง สอดคล้องกับข้อกำหนดบัญชียามุ่งเป้าตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นรายการยาสำคัญที่ได้รับการสนับสนุน

เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงทางยาของประเทศ โดยบริษัทวางเป้าหมายการผลิตและวางจำหน่ายยาสามัญใหม่อย่างน้อยปีละ 2 รายการ เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2569”

ในอุตสาหกรรมยา งานวิจัยมีความสำคัญมาก บริษัทจึงจัดตั้งศูนย์วิจัย BLC Research Center เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เข้ามาประยุกต์ใช้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

BLC ปักหมุดศูนย์วิจัยอัพเกรดสมุนไพรไทย ตีตลาดโลก

นอกจากนี้ BLC ยังมุ่งเน้นการวิจัยผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร เพื่อให้เป็นทางเลือกในการรักษาควบคู่กับยาแผนปัจจุบันผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยในประเทศ เพื่อศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ด้วยกระบวนการผลิตตามมาตรฐานการผลิตยาแผนปัจจุบัน (GMP PIC/S) และมีการแสดงผลการวิเคราะห์รองรับมาตรฐานคุณภาพ COA (Certificate of Analysis) ทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

รวมทั้งการวิจัยทางคลินิกเพื่อให้ได้ผลพิสูจน์ด้านประสิทธิผลในการรักษาและความปลอดภัย ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ จะถูกนำมาพิจารณาเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสมุนไพรที่มีความหลากหลายในรูปแบบ และคุณสมบัติที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

ด้านภก.สมชัย พิสพหุธาร ประธานเจ้าหน้าที่สายบัญชีและการเงิน BLC กล่าวว่า บริษัทวางกลยุทธ์สร้างการเติบโต โดยมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มยาที่มีอัตราการเติบโตสูง มีความสามารถในการทำกำไรขั้นต่ำที่ 70% ใน 3-5 ปีแรกของการวางจำหน่าย โดยบริษัทมีแผนการวางจำหน่ายยาสามัญใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มยอดขายในช่องทางโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งขยายตลาดสู่ต่างประเทศในตลาดประเทศจีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง ตะวันออกกลาง และ CLMV เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

BLC ปักหมุดศูนย์วิจัยอัพเกรดสมุนไพรไทย ตีตลาดโลก

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 337 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันในปีก่อนหน้า 56.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 20% จากปัจจัยการทำการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดโปรโมชัน และการออกบูธแสดงสินค้า เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 30.3 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรที่ 9% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นและต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และสิทธิประโยชน์ BOI หมดอายุในเดือนสิงหาคม 2565