นวัตกรรมรักษา "โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด" โดยไม่ต้องผ่าตัด

11 พ.ค. 2567 | 02:00 น.

เปิดนวัตกรรมรักษา "โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว" โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่มักจะพบในเด็ก หรือวัยรุ่น แต่ในบางครั้งก็เพิ่งมาตรวจพบและวินิจฉัยได้ในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยไม่ต้องผ่าตัด

นายแพทย์ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (Atrial Septal Defect: ASD) คือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่ เกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ส่งผลให้ผนังกั้นหัวใจห้องบนไม่สมบูรณ์ มีรูรั่ว ทำให้เลือดแดงไหลจากหัวใจห้องบนซ้ายไปห้องบนขวา และผ่านไปปอดเพิ่มขึ้นส่งผลให้หัวใจโตผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รักษา จะทำให้แรงดันในปอดสูง จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในท้ายที่สุด

อาการของโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และขนาดของรูรั่ว โดยทั่วไปในเด็กที่มีรูรั่วขนาดใหญ่มักจะแสดงอาการให้เห็นตั้งแต่อายุยังไม่มาก อาทิเช่น หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย กินนมได้น้อย น้ำหนักตัวขึ้นช้า เหงื่อออกง่าย ปอดติดเชื้อบ่อยๆ ตัวเขียว ในทางกลับกัน คนไข้ที่มีรูรั่วขนาดเล็ก อาจจะไม่แสดงอาการอะไรให้เห็นเลยในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น แต่พอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จึงเริ่มแสดงอาการ อาทิเช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะเวลาออกแรง ใจสั่น ออกกำลังกายได้ลดลงกว่าเดิม หน้ามืดเป็นลม เป็นต้น แต่ในคนไข้บางรายอาจจะตรวจพบจากการไปตรวจสุขภาพประจำปี โดยที่ยังไม่ได้มีอาการให้เห็น

นายแพทย์ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล

การวินิจฉัยโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว มักเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจ การตรวจทางห้องปฏิบัติการประกอบด้วย  การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซ์เรย์ปอด และการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง (Echocardiogram) ที่จะทำให้เห็นโครงสร้างภายในหัวใจอย่างละเอียด ผนังกั้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หากพบรูรั่ว ก็สามารถประเมินขนาดของรูรั่ว ตำแหน่ง ทิศทางการไหลเวียนของเลือด แรงดันในปอด เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิด สามารถรักษาได้ ด้วยวิธีการต่างๆ ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของรูรั่ว และอายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ได้แก่

  • ผู้ป่วยเด็กที่มีรูรั่วขนาดเล็กมาก ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่มีอาการหรือส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน อาจจะยังไม่จำเป็นต้องทำการปิดรูรั่ว แต่ต้องได้รับการติดตามต่อเนื่อง
  • การรับประทานยา มักใช้เพื่อควบคุมอาการหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่การรับประทานยาไม่สามารถที่จะทำให้รูรั่วนั้นปิดเองได้
  • การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาแบบดั้งเดิม ซึ่งจะพิจารณาในรายที่มีรูรั่วขนาดใหญ่, มีหลายรู หรือตำแหน่งของรูรั่วไม่สามารถรักษาด้วยเทคนิคการปิดรูรั่วผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดได้

นวัตกรรมรักษา \"โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด\" โดยไม่ต้องผ่าตัด

  • การรักษาด้วย เทคนิคปิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วผ่านทางสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา โดยจะทำในรายที่มีลักษณะรูรั่วที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา โดยนำอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เข้าไปปิดรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจผ่านทางสายสวนหัวใจโดยนำเข้าทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบ เมื่อถึงบริเวณรูรั่วอุปกรณ์จะถูกปล่อยไปวางยังตำแหน่งรูรั่วเพื่อปิดรูที่รั่วนั้น หลังจากนั้นร่างกายจะค่อยๆ สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาคลุมภายใน 3 - 6 เดือน ใช้เวลาในการทำหัตถการประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยวิธีการรักษาดังกล่าว จะช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเทียบกับการผ่าตัดใหญ่ ลดความเจ็บปวด และผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก และฟื้นตัวเร็วกว่า

การปฏิบัติตัวหลังทำการรักษาผ่านทางสายสวนเมื่อกลับไปอยู่บ้าน

  • รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดให้ครบและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีความจำเป็นต้องหยุดยาควรติดต่อแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนทุกครั้ง
  • ในระยะ 1-2 วันแรกไม่ควรเดินบ่อย และไม่ควรให้แผลถูกน้ำ ให้สังเกตบริเวณแผลหากพบอาการผิดปกติ เช่น แผลบวมแดง มีก้อนใต้ผิวหนังและกดเจ็บ มีหนองหรือน้ำเหลืองออกจากแผล มีไข้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
  • แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ ที่ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ควรมตรวจให้ตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมายอย่างต่อเนื่อง
  • ควรดูแลสุขภาพในช่องปากและฟันเพื่อป้องกันฟันผุ หากฟันผุควรรีบปรึกษาทันตแพทย์ก่อนทำการรักษา โดยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะตามดุลยพินิจของแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน รวมไปถึงการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจและผนังหัวใจ
  • งดยกของหนักประมาณ 1 เดือน งดออกกำลังกายหนักๆ ในช่วงระยะ 3 เดือนแรก
  • ผู้ป่วยที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังปิดรูรั่วหัวใจประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อความปลอดภัย