สปสช. จัดสรรงบ 2.8 พันล้านรองรับ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่" เฟส 3

16 พ.ค. 2567 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 04:11 น.

บอร์ด สปสช. เห็นชอบจัดสรรงบกว่า 2.8 พันล้านบาทเดินหน้าโครงการ "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" เฟส 3 พร้อมเห็นชอบให้ขยายพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายฯ ตามที่สาธารณสุขกำหนด 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งแรกภายหลังจากที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดย พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ในฐานะตัวแทนบอร์ด สปสช. ได้มอบดอกไม้ต้อนรับ

สำหรับวาระพิจารณาและที่ประชุมเห็นชอบการขยายพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2567 และในกรุงเทพมหานคร พร้อมรับทราบการดำเนินงานนโยบายรัฐบาล "30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ตั้งแต่ 7 ม.ค. – 7 พ.ค. 67

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" โดยแบ่งพื้นที่การดำเนินการในจังหวัดต่าง ๆ เป็น 4 ระยะ และได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. แล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ในการร่วมขับเคลื่อนพร้อมกับเห็นชอบการของบกลางเพื่อรองรับการดำเนินการทั้งในส่วนการบริหารจัดการและการให้บริการสุขภาพประชาชนซึ่งรวมถึงหน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ 7 ประเภทที่เข้ามามีส่วนขับเคลื่อน 

ในการประชุมล่าสุดในวันนี้ (15 พ.ค.2567) บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบให้เดินหน้าสนับสนุนต่อเนื่องในระยะที่ 3 เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 33 จังหวัด โดยเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนี้ 

เขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบน เขตสุขภาพที่ 4, ภาคกลางตอนกลาง เขตสุขภาพที่ 9, ภาคอีสานตอนใต้ เขตสุขภาพที่ 12, ภาคใต้ตอนล่าง เขตสุขภาพที่ 3 และเขตสุขภาพที่ 8 รวมทั้งสิ้น 33 จังหวัด โดยเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมนี้

สำหรับในส่วนของกรอบงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายฯ นั้น ภาพรวมการดำเนินการทั้ง 4 ระยะ สปสช. กำหนดงบประมาณไว้รองรับทั้งสิ้น 7,120.07 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนระยะที่ 1 จำนวน 366.57 ล้านบาท ระยะที่ 2 จำนวน 807.16 ล้านบาทและระยะที่ 3 ตามที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบครั้งนี้จำนวน 2,813.08 ล้านบาท รวมถึงระยะที่ 4 ที่ให้ขยายทั่วประเทศ อีกจำนวนจำนวน 3,254.60 ล้านบาท    

จากงบประมาณภาพรวมดังกล่าวนี้ แยกเป็นงบประมาณดำเนินการในส่วนหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ 7 ประเภท จำนวน 4,368.62 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการทั้งที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น และคลินิการแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นอกจากนี้เป็นงบประมาณการบริการในหน่วยบริการอื่นกรณีที่มีเหตุสมควร จำนวน 2,684.75 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ จำนวน 66,700 ล้านบาท   

"งบประมาณดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในส่วนของระยะที่ 2 และ 3 นั้น วันนี้บอร์ด สปสช. ยังได้เห็นชอบให้ สปสช. เสนองบกลางเพื่อดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างนี้ให้ สปสช. ดำเนินการสำรองจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพก่อน และเมื่อได้รับงบกลางให้จัดสรรทดแทนคืนเงินตามกองทุนที่ได้เบิกจ่ายไป" ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ด สปสช. ยังได้รับทราบการดำเนินงานนโยบายรัฐบาล "30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ในช่วงระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยรวมมีประชาชนเข้ารับบริการตามนโยบาย จำนวน 3,493,101 คน เป็นจำนวน 4,810,812 ครั้ง

ในจำนวนนี้เป็นการรับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรมฯ จำนวน 944,778 คน เป็นจำนวน 1,280,458 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 26.62 ของจำนวนการรับบริการทั้งหมด ส่วนการรับรู้และความพึงพอใจต่อนโยบายฯ นั้น

จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่เข้ารับบริการฯ ใน 4 จังหวัดนำร่อง โดยสายด่วน สปสช. 1330 ในช่วงวันที่ 19 - 27 เม.ย. 67 นั้น พบว่าประชาชนมีการรับรู้ต่อนโยบายฯ อยู่ที่ร้อยละ 75-82 การรับบริการส่วนใหญ่รอคอยไม่เกิน 30 นาที

ส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการดำเนินนโยบายฯนี้ทั้งในด้านความสะดวกในการเข้ารับบริการ ความพึงพอใจในการเข้ารับบริการ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อรับการรักษาพยาบาล และระยะเวลาการให้บริการ โดยรวมแล้วประชาชนมีความพึ่งพอใจต่อนโยบายฯ ในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 98.77

สะท้อนให้เห็นว่า เป็นนโยบายที่มีประโยชน์อย่างยิ่งและได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก และข้อมูลนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้านโยบายฯ ในระยะต่อไป