15 พฤษภาคม 2567 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ "รับมืออย่างไร โรคและภัยสุขภาพช่วงเปิดเทอม" พร้อมแนะนำประชาชน รวมถึงผู้ปกครองและคุณครู ถึงวิธีการรับมือโรคและภัยสุขภาพช่วงเปิดเทอม
1.ไข้หวัดใหญ่
มักเกิดการระบาดในช่วงฤดูฝน ประกอบกับเป็นช่วงใกล้เปิดเทอม จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนดูแลตนเองและบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย จำนวน 144,574 รายซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน ได้แก่ อายุแรกเกิด - 4 ปี (15%) และอายุ 10-14 ปี (14%) แนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ปีละ 1 ครั้งช่วงก่อนฤดูกาลระบาด
2. โควิด-19
จากข้อมูลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,880 ราย เฉลี่ย 269 รายต่อวัน ผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 588 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 237 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง
ดังนั้น นอกจากดูแลบุตรหลานแล้ว ขอเน้นย้ำประชาชนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มาก ควรสวมหน้ากากอนามัยเสมอ และล้างมือบ่อยๆ หากป่วยให้รีบไปพบแพทย์
3.ไข้เลือดออก
เป็นโรคที่มีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 27,334 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี จำนวน 8,033 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน
จากผลการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพบสูงสุดในกลุ่มโรงเรียนและโรงธรรมจึงขอให้ทุกสถานศึกษาเร่งสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำทุกสัปดาห์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด
สำหรับผู้เสียชีวิต 31 ราย พบเป็น เด็ก 11 ราย ผู้ใหญ่ 20 ราย แนะนำ หากมีอาการไข้สูง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือพาราเซตามอลในขนาดที่เหมาะสม และหากไข้ไม่ลดใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
โรคอื่น ๆ ที่มักพบมีการระบาดได้ช่วงเปิดเทอม
1.โรคมือ เท้า ปาก
ติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปาก โดยเชื้อติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกันผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก จะมีอาการไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ตุ่มแผลในปาก ทานไม่ได้ ร่วมกับอาจมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า
หากอาการรุนแรงมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและครูช่วยกันดูแลสังเกตอาการเบื้องต้นของเด็ก หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ หยุดเรียนจนกว่าจะหายตามดุลยพินิจของแพทย์
2.ท้องร่วงเฉียบพลันจากการติดเชื้อ
ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน พบการระบาดได้ตลอดทั้งปี พื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่รวมกัน เช่น โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว จะเกิดการระบาดได้ง่าย
ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ อาเจียน ปวดท้อง บางรายอาจมีไข้ น้ำมูกไหล หรือไอร่วมด้วย การป้องกัน ยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" รับประทานอาหารปรุง สุก ใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชม. ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนกิน ขวดนม จุกนม ต้องล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทันทีและฆ่าเชื้อโดยการต้มจนเดือดอย่างน้อย 10-15 นาที
สอนให้เด็กล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และโดยเฉพาะทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร นักเรียนป่วยควรหยุดเรียน ผู้ใหญ่ควรหยุดงานและงดการปรุงประกอบอาหารจนกว่าจะหาย
3.โรคติดต่อในกลุ่มที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น หัด ไอกรน เป็นต้น ที่แพร่ระบาดทางระบบทางเดินหายใจ
ขอให้ผู้ปกครองเช็กประวัติวัคซีน หากเด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนดวัย ควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านให้ครบซึ่งในช่วงเปิดเทอมนี้ แนะนำให้ทั้งนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนทุกคน รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่ปิด (เช่นห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ) และล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือที่มีไข้ออกผื่น หากป่วย ควรหยุดพักและรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง