พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH กล่าวว่า ตลาดโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่มีผู้เล่นน้อย เนื่องด้วยเป็นธุรกิจเฉพาะทางที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง ส่งผลให้การแข่งขันยังไม่ดุเดือด ส่วนใหญ่แล้วโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตจะเป็นของภาครัฐ แต่ฝั่งเอกชนยังน้อยอยู่
อย่างไรก็ตาม ดีมานด์ของผู้ป่วยโรคทางจิตกลับพุ่งสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่กลายเป็นโรคยอดฮิตติดเทรนด์โลก สถิตินี้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสทองของธุรกิจโรงพยาบาลจิตเวช
ส่วนแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง มุ่งมั่นพัฒนาให้โรงพยาบาลเป็นศูนย์เฉพาะทางด้านสุขภาพจิตชั้นนำ ควบคู่กับการเปิดแผนกสุขภาพจิตเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ในต้นปีหน้า แผนกสุขภาพจิตเด็กนี้ มุ่งรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเด็กวัยเยาว์ โดยใช้งบลงทุน 1-3 ล้านบาท
ซึ่งจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตเด็ก เพราะเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการ โดย BMHH มุ่งมั่นที่จะเป็น แหล่งดูแลสุขภาพจิตแบบครบวงจร ที่พร้อมให้การสนับสนุนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และครอบครัว
พญ.ปวีณา กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้มีปัญหาสุขภาพจิต พุ่งสูงถึง 10 ล้านคน แม้จะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว 2 ล้านคน แต่ตัวเลขนี้ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก จากการศึกษาของกรมสุขภาพจิต พบว่า คนไทย 7 ล้านคน กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตโดยไม่ได้รับการรักษา สะท้อนให้เห็นถึง วิกฤตสุขภาพจิต ที่กำลังคุกคามสังคมไทย ข้อมูลจากการประเมินสุขภาพจิตตนเอง ของกรมสุขภาพจิตยิ่งตอกย้ำสถานการณ์เลวร้าย เมื่อพบว่า
5 โรคยอดฮิตที่คนไทยป่วยเป็นอันดับต้นๆ จากข้อมูล BMHH
พญ.ปวีณา กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตกำลังกลายเป็นภัยเงียบที่คุกคามคนไทยมากขึ้นทุกวัน การรักษาสุขภาพจิตจึงมีความจำเป็นไม่แพ้สุขภาพกาย "โรงพยาบาล BMHH" สมาชิกใหม่ล่าสุดในเครือโรงพยาบาลเวชธานี เปิดให้บริการเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ 39 และ 41 บนพื้นที่กว้างขวาง 2 ไร่ อาคาร 8 ชั้น รองรับผู้ป่วยในจำนวน 30 เตียง ด้วยงบลงทุนกว่า 530 ล้านบาท มุ่งมั่นมอบบริการด้านสุขภาพจิตครบวงจร
สำหรับผู้ป่วยสุขภาพจิตมีความเปราะบางทางจิตใจสูง สภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลจึงส่งผลต่อพวกเขามาก การออกแบบโรงพยาบาล BMHH มุ่งเน้นหลัก 2 ประเด็น คือ ความปลอดภัย และ ประสบการณ์ที่ดี จะมีบรรยากาศผ่อนคลาย อบอุ่น เหมือนบ้าน ออกแบบพื้นที่ให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัย บริการสอดคล้องกับการออกแบบ
ส่วนความปลอดภัยจะออกแบบเพื่อป้องกันการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น หลีกเลี่ยงวัสดุมีคม เช่น กระจกเทมเปอร์ กระเบื้อง โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ปลอดภัย เช่น ชุดผู้ป่วยยางยืด ม่านไม่มีเชือก ขอแขวนแทนราวแขวนระบบควบคุมเข้มงวด ล็อคประตูจากด้านในไม่ได้ ประตูแจ้งเตือนเมื่อเปิด กล้องวงจรปิดทุกห้อง มองเห็นกิจกรรมผู้ป่วย เป็นต้น
แม้โรงพยาบาลจะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง แต่ก็ไม่ต้องการให้มีภาพที่น่ากลัวคล้ายห้องขัง จึงนำเรื่องการออกแบบตัวอาคารมาผสมกับ Design Service บวกด้วยการตกแต่งภายใน ซึ่งทั้งภายนอกและภายในจะอยู่ภายใต้แนวคิด Therapeutic Biophilic Design เน้นความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์จะผูกพันและรู้สึกสบายเมื่ออยู่กับธรรมชาติ
การเลือกใช้สีในการตกแต่งเป็นอีกเรื่องที่โรงพยาบาลให้ความสำคัญ โดยจะเน้นโทนสีธรรมชาติและดูอารมณ์ของสีด้วย จึงเป็นที่มาของการใช้ 3 สีหลัก ได้แก่ เขียว ฟ้า และสีเบจ ซึ่งเป็นสีกลาง ๆ ที่ไม่กระตุ้นอารมณ์ของผู้ป่วยและดูอบอุ่น ทำให้รู้สึกสบายเข้าได้กับทุกสี สีฟ้าให้ความรู้สึกเย็น สงบ ในขณะที่สีเขียวเป็นความสดชื่น
ซึ่งสีดังกล่าวถูกนำมาใช้กับชุดแต่งกายของพนักงานที่ใช้เป็นชุดสครับ (scrubs) เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน ส่วนสีอื่นที่อาจเอามาเติมบ้างจะเป็นสีเหลืองเป็นการเพิ่มพลังบวก นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังช่วยให้ผู้เข้ามารู้สึกผ่อนคลายด้วยเสียงดนตรีบรรเลง อีกทั้งยังมีหนังสืออ่านเล่นที่ให้พลังบวกสำหรับญาติผู้ป่วยในช่วงนั่งรอผู้ป่วยอีกด้วย
พญ.ปวีณา กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันคนไทยเปิดกว้างมากขึ้น และภาพจำเกี่ยวกับโรงพยาบาลจิตเวชก็เปลี่ยนไปจากเดิม รู้ว่าการปรึกษาจิตแพทย์เป็นทางออกหนึ่งในชีวิต ซึ่งวิธีการวางแผนดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตจะมีความแตกต่างจากสุขภาพกาย เพราะมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก และยังมีมิติอื่น ๆ ในตัวโรคเองด้วย การแยกออกมาเป็นโรงพยาบาล BMHH เพื่อให้ดีไซน์ทุกอย่างได้ตามที่อยากทำและควรทำสำหรับผู้ป่วยสุขภาพจิต