ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กิจกรรม SX TALK SERIES ครั้งที่ 3 เป็นกิจกรรมภายใต้งาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) ในหัวข้อ "บาลานซ์อยู่ไหน? ปรับกาย ฮีลใจ ให้สมดุล" โดยต้องการจะสื่อสารว่าสุขภาพจิตของผู้คน ล้วนเป็นผลที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่บุคคลนั้นใช้ชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ หากประเทศไทยอยากสร้างความยั่งยืนให้กับสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นโดยภาพรวมหรือในระดับบุคคล จะต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ แต่สิ่งที่สำคัญก่อนจะไปถึงการเปลี่ยนแปลงทุกคนต้องดูแลตัวเอง ดูแลคนรอบตัว ถ้ามีความเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจกัน และอ่อนโยนต่อตัวเองจะสามารถดูแลสุขภาพจิตของตัวเองได้
นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท มายด์เซ็ทแมคเกอร์ จำกัด กล่าวว่า การปรับสุขภาพจิตจะต้องมีจิตวิทยาเชิงบวก โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ให้เป็นเชิงบวงแบบคณิตศาสตร์ ไม่ใช่เชิงบวกแบบโลกสีชมพู ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเราเอง เพื่อให้การทำให้ภาวะติดลบหายไป เช่น ความเครียด สามารถเยียวยาได้แบบระยะสั้นระยะยาว โดยต้องเปลี่ยนมุมมอง ฝึกคิดในรูปแบบใหม่ ฝึกจิตวิทยาในเชิงบวงเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง และเครื่องมือที่ต้องมีคือ "ความงอกงามทางด้านจิตใจ" หรือเรียกว่า grown mind set ซึ่งจะช่วยป้องกันด้านจิตใจด้วยวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เกิดสุขภาวะที่ดี
"คนเราต้องเปิดกว้างอารมณ์ให้ได้รับพลังบวกมากกว่าพลังลบ หากมีพลังบวกน้อยกว่าลบถึง 3 เท่าในแต่ละวันจะทำให้สุขภาพจิตติดลบ ฉะนั้นในแต่ละวันอย่าให้มีลบเกินพลังบวก โดยเชิงบวกเราสามารถนึกถึงความสุขทั้งปัจจุบันและอดีตที่ที่ทำให้มีความสุขได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วม การสร้างความท้าทายที่ทำได้สำเร็จ เราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเราเอง อยากให้ลองพัฒนาสุขภาวะทางจิตตัวเองแล้วเผื่อแผ่ไปถึงคนรอบข้าง แล้วเราจะมีกำลังรับมือกับความท้าทายที่มีมากเหลือเกินในสังคมปัจจุบัน"
นางสาวดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว กล่าวว่า โลกในอยู่ยากขึ้นทุกวัน ความยั่งยืนทางจิตใจจะช่วยให้คนอยู่ด้วยกันอย่างมีเสถียรภาพ แต่ทุกคนก็ต่างมีความคิดของตัวเองที่ทำให้เกิดภาวะจิตใจที่แตกต่าง ฉะนั้นการเยียวยาตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ และงานศิลปะเยียวยาจิตใจได้ แต่ต้องต่อสู้กับความเชื่อ เช่น หลายคนคิดว่าศิลปะมีไว้สำหรับศิลปินเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่เลย ศิลปะใช้ได้กับทุกคน ในความคิดนี้ต้องต่อสู้กับความรู้สึกตัวเองก่อนว่า กล้าที่จะลงมือทำหรือเปล่าเพื่อให้ตัวเองเกิดความเพลิดเพลินและอยู่ที่ไหนก็ทำได้
การเติมศิลปะเข้าไปในชีวิตจะสร้างความเข้าอกเข้าใจ ไม่ทำให้ใจร่วงหล่นไปไกล และหากดึงศิลปะที่นุ่มนวลมาสื่อสารกับคนรอบข้างได้ จะกลายเป็นคำพูดอ่อนโยน โอบกอดซับพ็อตกันและกันมากขึ้น ที่สำคัญคือ การรับฟังเป็นสิ่งที่ปลอดภัยสำหรับจิตใจคนได้มาก ลองทำกันเองในบ้าน ในครอบครัว อาจช่วยได้ดีกว่าการไปหาหมอ แต่ต้องเคารพขอบเขตของกันและกันด้วย