รัฐบาลอัดงบปี 68 ให้ สธ. กว่า 3.4 แสนล้าน เพิ่มขึ้น​ 2.1 หมื่นล้านบาท  

18 มิ.ย. 2567 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2567 | 07:34 น.

รองโฆษก สธ. ​เผย "เศรษฐา-สมศักดิ์" ทุ่ม​งบประมาณปี 2568 กว่า 3.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 67 กว่า 2.1 หมื่นล้านบาท สร้างสาธารณสุข​ที่ดีให้คนไทย​ หลังค่ารักษาต่อหัวเพิ่มขึ้น​จาก​ 3,472 บาท​เป็น​ 3,844​ บาทต่อคน

18 มิถุนายน 2567 นายจิรพงษ์ ทร​งวัชราภรณ์​ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ร่าง​ พ.ร.บ.​ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.​ 2568 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในวาระแรกขั้นรับหลักการในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 โดยงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวม ครม.​ อนุมัติ​จัดสรรงบประมาณ 341,210 ล้านบาท​ เพิ่มขึ้น​ 21,966​ ล้านบาท​ จากงบประมาณปี 67​

ในส่วนงบประมาณที่เพิ่มเติมมานั้น​มาจากการเพิ่มงบประมาณไปที่ กองทุนหลักประกัน​สุขภาพแห่งชาติ​ (สปสช.) ที่ถูกจัดตั้งโดยนายทักษิณ​ ชินวัตร​ อดีตนายกรัฐมนตรี​ ภายในวงเงิน​ 235,842 ล้านบาท​ เพิ่มขึ้น​จากปีงบประมาณ​ 2567​ จำนวน​ 18,213​ ล้านบาท​ ประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ ดังนี้ 

1.ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพ​ถ้วนหน้า​ เพิ่มขึ้น​จาก​ปีงบประมาณ​  2567​ จำนวน​ 15,014 ล้านบาท​ ค่าเหมาจ่าย​รายหัว​จาก​ 3,472​ บาท​ เป็น​ 3,844 บาทต่อหัว

2.ค่าบริการทางการแพทย์นอกเหมาจ่ายรายหัว เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ​ 2567​ จำนวน​ 2,441 ล้านบาท​ วงเงินรวม 54,545 ล้านบาท​ในปี​ 2568 

นายจิรพงษ์ ทร​งวัชราภรณ์​ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว​นอกเหนือ​จากการเพิ่มงบประมาณค่ารักษาต่อหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ​แล้ว​ นายสมศักดิ์​ เท​พสุ​ทิน​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​สาธารณสุข​ ยังจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมไปในหมวดดังต่อไปนี้ด้วย

1.ค่าบริการสุขภาพ ผู้ป่วยไตวายวายเรื้อรัง​ เพิ่มขึ้น​ 698 ล้านบาท​ เป็นวงเงินทั้งสิ้น​ 13,506 ล้านบาท 

2.ค่าบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์​ เพิ่มขึ้น 192 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 4,209 ล้านบาท 

3.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,180 ล้านบาท 

4.ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรังเช่น​ โรคเบาหวาน​ ความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยโรคหืด เพิ่มขึ้น 101 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 1,298 ล้านบาท 

5.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน เพิ่มขึ้น 139 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,900 ล้านบาท

6.ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพิ่มขึ้น 1,067 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 19,596 ล้านบาท ครอบคลุม 66.37 ล้านคน

นายจิรพงษ์ รองโฆษกสาธารณสุข กล่าวย้ำว่า นายสมศักดิ์​ รมว.สาธารณสุข ตั้งใจที่จะ​ยกระดับหลักประกัน​สุขภาพ​แห่งชาติ​เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนภายในประเทศให้สอดคล้องกับภารกิจสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นนโยบายหลักของ นายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี​ ภายใต้สโลแกน​ "ยก​ระดับ​ 30​ บาทรักษาทุก​ที่​ อัพเกรดพลัส"