รพ.กรุงเทพ เปิดศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ตั้งเป้า 5 ปี ยกระดับสู่อาเซียน

20 มิ.ย. 2567 | 06:31 น.
อัพเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2567 | 13:32 น.

รพ.กรุงเทพ ลงทุน 200 ล้านบาท เปิดศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi” เผยแผนงาน 5 ปี ตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการลงทุนสู่ความเป็นเลิศในอนาคต

นายแพทย์เอกกิตติ์ สุรการ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพเป็นโรงพยาบาลที่นำเข้าหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นแห่งแรกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ใช้ผ่าตัดหัวใจ ต่อมลูกหมาก ซึ่งมีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีหลายอย่างจึงหยุดใช้ ก่อนจะนำเครื่องรุ่นใหม่มาเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2566 จำนวน 1 เครื่องคือรุ่น The da Vinci Xi เป็นเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดในหลายสาขาที่สามารถใช้หุ่นยนต์ได้เลย และเปิดศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ด้วยงบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท และเริ่มใช้ในการผ่าตัดเพิ่มขึ้นในปี 2567 จนประสบความสำเร็จมากกว่า 200 ราย มีสัดส่วนจากการผ่าตัดปกติ 5-10% โดยเลือกใช้เฉพาะเคสผู้ป่วยโรคซับซ้อน ราคาเฉลี่ยที่ใช้หุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนบาท/เคส ซึ่งโรคที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมากที่สุดคือการผ่าตัดในช่องท้อง

"การเลือกใช้หุ่นยนต์ The da Vinci Xi เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เสถียรภาพ ผ่าการผ่าตัดมาแล้วทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านครั้ง ผ่านมาตรฐาน อย.ซึ่งเป็นระบบเดี๋ยวที่อนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย แม้จะมีหุ่นยนต์จากจีน อิเดีย ที่มีเทคโนโลยีเดียวกันแต่ความเชื่อมมั่นจากอเมริกาก็มากกว่า ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกในตอนนี้ที่พัฒนาด้านการแพทย์ ล้วนนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยผ่าตัดทั้งสิ้น และในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยกับสิงคโปร์มีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดใกล้เคียงกัน ประมาณ 10 กว่าเครื่อง แต่ความเชี่ยวชาญของแพทย์ในประเทศไทยผ่าตัดประสบความสำเร็จและไม่มีผลข้างเคียงมากกว่า"

รพ.กรุงเทพ เปิดศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ตั้งเป้า 5 ปี ยกระดับสู่อาเซียน

สำหรับโรงพยาบาลกรุงเทพ ปัจจุบันผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยเฉลี่ย 30 ราย/เดือน สูงสุด 3 ราย/วัน ในอนาคตวางเป้าหมาย ไว้ 500-1,000 ราย/ปี ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้ป่วยและแพทย์ ทั้งยังสามารถลดจำนวนค่าใช้จ่ายลงได้ โดยในอนาคตอาจจะเพิ่มเครื่องรุ่นใหม่เข้ามาอีก 1 เครื่อง พร้อมทีมแพทย์ 2 เพื่อให้คนไข้ได้มีโอกาสในการรักษาเพิ่มขึ้น แต่ในประเทศไทยการผ่าตัดดด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยยังมีอยู่น้อยมาก ราคาก็สูง และตอนนี้หุ่นยนต์ที่ช่วยผ่าตัดน่าจะมีอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช 2 เครื่อง, โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 เครื่อง, โรงพยาบาลจุฬาฯ 1 เครื่อง, โรงพยาบาลกรุงเทพ 1 เครื่อง, โรงพยาบาลตำรวจ 1 เครื่อง และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 1 เครื่อง

นายแพทย์เอกกิตติ์ กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพ และความแม่นยำให้กับการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาล ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอกย้ำความมุ่งมั่นของโรงพยาบาลกรุงเทพในการเป็นโรงพยาบาลชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน และเป็นหมุดหมายสำคัญด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ที่ทันสมัย โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ ซึ่งการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ The da Vinci Xi ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ รักษาได้ตรงจุด โดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณที่มีความซับซ้อน และเข้าถึงยาก ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยระหว่างการรักษา ลดความเจ็บปวด อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้นภายหลังการผ่าตัด และช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้ประณีตละเอียดขึ้นในหลายโรค โดยเฉพาะกับโรคที่มีความซับซ้อน อาทิ โรคที่เกี่ยวกับทรวงอก โรคที่เกี่ยวกับระบบช่องท้อง โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมไธมัส มะเร็งปอด มะเร็งตับ รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับนรีเวช ภาวะก้อนที่รังไข่ ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น

รพ.กรุงเทพ เปิดศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ตั้งเป้า 5 ปี ยกระดับสู่อาเซียน

“แม้ว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่อย่างหุ่นยนต์ผ่าตัด The da Vinci Xi จะมีต้นทุนที่สูงและอาจมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ป่วยมีผลลัพธ์ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการรักษาผ่าตัดที่แม่นยำ ลดภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว และรักษาโรคได้ตรงจุด ลดค่ารักษาพยาบาลได้ในระยะยาว ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิประกันที่ขยายความคุ้มครองสำหรับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ครอบคลุมการรักษา ทำให้การรักษาขั้นสูงนี้เข้าถึงได้ง่ายและคุ้มค่ายิ่งขึ้น และการลงทุนในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ของโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่มุ่งเป็นโรงพยาบาลชั้นนำในเอเชีย โดยแผนงานระยะ 5 ปีของเรา คือการขยายขีดความสามารถในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ศัลยกรรมหู คอ จมูก ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านพัฒนาทักษะ การศึกษาและอบรมเพื่อให้โรงพยาบาลกรุงเทพก้าวขึ้นเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ระดับโลกในอนาคต"