รู้หรือไม่ว่า วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีนอกจากจะเป็น "วันสุนทรภู่" แล้วในวันนี้ยังถูกกำหนดให้เป็น "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" อีกด้วย ฐานเศรษฐกิจ พาไปย้อนดูประวัติ ความเป็นมา และคำขวัญวันต่อต้านยาเสพติดโลกประจำปี 2567 กัน
ยาเสพติด คือ สารเคมีที่มีผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของผู้เสพ ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและทำให้ผู้เสพรู้สึกต้องการแบบขาดไม่ได้ทั้งยังส่งผลกระทบข้างเคียงต่อร่างกายทำให้อ่อนเพลีย ร่างกายซูบผอมและมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
เมื่อใช้สารเสพติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้การตัดสินใจช้าลง ทั้งยังมีผลต่อการนอนหลับ การใช้ยาเสพติดนอกจากจะทำให้ประชากรมีชีวิตที่แย่ลงแล้วที่สำคัญ คือ การกระทำผิดมีบทลงโทษตามกฎหมาย มีความเสี่ยงที่จะก่อคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ตามมาอีกด้วย
วันยาเสพติดโลก "International Day against Drug Abuse and Illicit Trafficking" หรือ "World Drug Day" เกิดจากปัญหาการใช้ยาเสพติดที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชากร
ที่ประชุมสหประชาชาติในปี พ.ศ.2530 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนาในระหว่างวันที่ 17-26 มิถุนายน พ.ศ. 2530 จึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมว่าด้วยเรื่องการใช้ยาในทางที่ผิดและการลักลอบใช้ยาเสพติดซึ่งมีประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ร่วมกันจัดกิจกรรม รณรงค์และต่อต้านยาเสพติดทั้งหน่วยงาน รัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดย "สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ" ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันต่อต้านยาเสพติดโลก"
สำหรับประเทศไทยเองซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทั่วโลก ด้วยการจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดเป็นประจำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อย้ำเตือนให้ประชาชนไทยเกิดความตระหนักถึงปัญหายาเสพติดที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
ในปี พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักร โดยมีการเผาทำลายฝิ่นและอุปกรณ์การสูบฝิ่นที่ท้องสนามหลวง ในคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2502
จากนั้นปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง "คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ" ใช้ชื่อย่อว่า ปปส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี "อธิบดีกรมตำรวจ" เป็นประธานและมีผู้แทนจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็น "กรรมการ"
ต่อมารัฐบาลสมัย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้โดยการดำเนินการเฉพาะ กรมตำรวจ ฝ่ายเดียว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519
กฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดให้มี "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด" หรือ ป.ป.ส. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส. ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบโดยตรง มีฐานะเป็นกรมกรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันสำนักกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ต่อมา สำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำมติเรื่อง วันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 โดยที่ประชุมครม.ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันต่อต้านยาเสพติด" โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน
คําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด 2567 : "รวมพลังไทย สร้างครอบครัว ชุมชนอุ่นใจ พ้นภัยยาเสพติด เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา"
คําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด 2566 : "รวมพลังไทย หยุดภัยยาเสพติด"
คําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด 2563 : "SAVE ZONE NO NEW FACE พื้นที่ปลอดภัย ไม่มีคนหน้าใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ ไม่ใช้ยาเสพติด"
คําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด 2562 : "มุ่งมั่น แก้ไข ขจัดภัยยาเสพติด"
คําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด 2561 : "ไทยนิยมยั่งยืน ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด"
คําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด 2560 : "ทำดีเพื่อพ่อ สานต่อแก้ปัญหายาเสพติด"