3 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่และมีน้ำท่วมขังซึ่งอาจมีเชื้อโรคไข้ฉี่หนูปนเปื้อน หากประชาชนเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วย 1,458 ราย เสียชีวิต 17 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 45-54 ปี (20.44%) รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี (19.55%) และมากกว่า 65 ปี (18.45%) ตามลำดับ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 33.5 ไม่ทราบอาชีพหรือในปกครอง ร้อยละ 26.7 อาชีพรับจ้างร้อยละ 17.1 โรคนี้มักพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน
โรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปราที่ปนออกมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ไหลลงสู่แหล่งน้ำ หรือแอ่งน้ำขัง ดินโคลนที่ชื้นแฉะ เชื้อนี้สามารถไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีบาดแผลหรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปาก
จากการที่ประชาชนลงแช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำดินโคลนโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน หลังจากติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการระยะแรกของโรคไข้ฉี่หนูจะคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจึงพบว่าผู้ป่วยหลายรายเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ล่าช้า เนื่องจากซื้อยารับประทานเอง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตด้วยโรคนี้
ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยและสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลนให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำที่ท่วมขังนานๆ เพราะอาจได้รับเชื้อไข้ฉี่หนูได้
2.หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง เมื่อต้องสัมผัสน้ำที่ท่วมขัง ดินที่ชื้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำท่วม
3.หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำท่วมขัง ให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
4.หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หรือปวดกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำท่วมขัง 1-2 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบเพื่อการตรวจรักษาที่รวดเร็วซึ่งช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากเข้ารับการรักษาภายใน 1-2 วัน หลังเริ่มป่วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422