การจมน้ำ นับเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขทั่วโลก ตามมติสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly ได้กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปี เป็น "วันป้องกันการจมน้ำโลก" (World Drowning Prevention Day) และขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการจมน้ำ และร่วมมือกันในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการจมน้ำ
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำประมาณ 236,000 คน โดย 1 ใน 4 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งในกลุ่มเด็กอายุ 5 – 14 ปีนั้น พบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1
ส่วนของประเทศไทยจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในปี 2566 ประเทศไทยพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำทุกกลุ่มอายุ 891 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 287 ราย
เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2556 – 2565) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,403 คน เฉลี่ยปีละ 3,640 คน หรือวันละกว่า 10 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 6,992 คน
สาเหตุหนึ่งที่พบบ่อย คือ ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดและการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ ที่ถูกต้อง โดยช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดเพราะตรงกับช่วงปิดเทอมและอยู่ในฤดูร้อน
สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้วันเสาร์แรกเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ และมีการจัดกิจกรรมทุกปีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552
กระทั่งในปี 2564 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติเรื่อง Global Drowning Prevention กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันป้องกันการจมน้ำโลก โดยในปี 2567 นี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวคิด คือ Anyone can drown, no one should. "จมน้ำเกิดง่ายกว่าที่คิด หนึ่งชีวิต...ไม่ควรสูญเสีย"