"ธรรมศาสตร์ พัทยา" ผงาดคว้ารางวัลต้นแบบ "สถาบันสุขภาวะดี" Best of the Best

01 ส.ค. 2567 | 07:07 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2567 | 14:23 น.

คกก.เขตสุขภาพฯ ยกย่อง "ธรรมศาสตร์ พัทยา" ต้นแบบ "สถาบันสุขภาวะดี" Best of the Best ชวนเป็นพี่เลี้ยง พัฒนาสถานศึกษาอีก 8 จังหวัด

‘ธรรมศาสตร์ พัทยา’ คว้ารางวัล Best of the Best สถานศึกษาที่สร้างเสริมสุขภาวะ จาก ‘เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 6’ จากผลงานเด่น สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี-ดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาตลอด 24 ชั่วโมง        ด้าน ประธาน กขป. เขตพื้นที่ 6 พร้อมผนึกกำลัง ชวนให้เป็น ‘พี่เลี้ยง’ ช่วยยกระดับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ใน 8 จังหวัด ขณะที่ นายกเมืองพัทยา เตรียมขับเคลื่อน Young Ambassador ให้ความรู้ด้านเพศ 
 
นายประชา เตรัตน์ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 6 (กขป. เขตพื้นที่ 6) เปิดเผยว่า กขป.เขตพื้นที่ 6 ได้ร่วมกับเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จัดการประกวด ‘รางวัล Best of the Best’ ในกลุ่มสถานศึกษาที่ขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยในปี 2567 ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา’ เป็นสถาบันที่ชนะเลิศ และได้รับยกย่องให้เป็น ‘ต้นแบบ’ การสร้างสุขภาวะดีทั้งมิติกาย ใจ สังคม และปัญญา ในพื้นที่ กขป. เขตพื้นที่ 6 ต่อไป 
 

นายประชา กล่าวว่า ในสถาบันการศึกษากว่า 40 แห่งที่เข้าประกวด พบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา มีความโดดเด่นกว่าสถาบันอื่นๆ เพราะมีการจัดกระบวนการและจัดบริการครอบคลุม 4 มิติสุขภาพ อาทิ มีจิตแพทย์และที่ปรึกษาสุขภาพจิตดูแลนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยตลอด 24 ชั่วโมง สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ทันทีตามความต้องการ  

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา มีการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี มีสังคมภายในที่ดี และมีกระบวนการวิธีการดูแลนักศึกษาอย่างครอบคลุม มีทีมเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือสมาชิกภายในมหาวิทยาลัย ทั้งคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ตลอดจนมีแผนในการกระตุ้นเสริมพลังกันภายในได้อย่างดี 
 

 “จุดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา คือสามารถจัดการงานด้านสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพจิตใจของนักศึกษาเป็นเรื่องแรก เพราะหากสุขภาพจิตสมบูรณ์ จะทำให้นักศึกษาพร้อมสำหรับการเรียนรู้ การทำกิจกรรมต่างๆ ในสถาบันศึกษา และนำไปสู่สุขภาพกายที่ดีต่อไป” นายประชา กล่าว 

นายประชา กล่าวอีกว่า สำหรับรางวัล Best of the Best สถานศึกษาที่สร้างเสริมสุขภาวะนั้น เป็นรางวัลที่จะช่วยกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาในกลุ่มจังหวัด กขป. เขตพื้นที่ 6 รวม 8 จังหวัด อันได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด และระยอง ให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะดีแก่นักเรียน-นักศึกษา ตลอดจนสามารถประยุกต์การขับเคลื่อนงานจากต้นแบบที่ได้รับรางวัล เพื่อให้เกิดวิธีการ แนวทาง และเครื่องมือ ที่เหมาะสมกับแต่ละสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไปได้ 

"หากแต่ละพื้นที่ มีสถานศึกษาที่มีศักยภาพ ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการหนุนเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ที่มีองค์ความรู้ และมีนักวิชาการที่มีศักยภาพ และสมรรถนะสูง ขณะนี้ได้เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนใน อ.บางละมุง เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนการสร้างกระบวนการภายในเพื่อดูแลสุขภาวะให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่อ.บางละมุงได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม"  นายประชา กล่าว 

ทั้งนี้ กขป.เขตพื้นที่ 6 จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ในการยกระดับการขับเคลื่อนสุขภาวะในกลุ่มเด็กนักเรียน เยาวชน ในพื้นที่ รวมถึงนำร่องให้กับโรงเรียน สถานศึกษาอื่นๆ ใน 8 จังหวัด ให้ได้เรียนรู้ และนำไปปรับใช้ภายในองค์กรต่อไป ทั้งในแง่ของวิชาการ การสร้างสภาพแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนการสอน และการดูแลสุขภาพจิต ที่จะนำไปสู่สุขภาพกาย ปัญญา และสังคมที่ดี

ทางด้าน นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า เมืองพัทยาได้ทำงานร่วมกับ กขป.เขตพื้นที่ 6 เพื่อค้นหาสถานศึกษาที่โดดเด่นด้านการจัดการสุขภาวะและหนุนเสริมเด็กและเยาวชนให้มีสุขภาพดีอย่างครบทุกมิติ ทั้งทางกาย ใจ สติปัญญา และสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักศึกษามีความพร้อมที่จะศึกษา และยกระดับการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้อย่างดี โดยหลังจากนี้เมืองพัทยาจะร่วมกับธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ทำหน้าที่ Young Ambassador มอบองค์ความรู้และกระบวนการจัดการปัญหาสุขภาวะของเด็กและเยาวชนให้กับโรงเรียนเมืองพัทยาทั้งหมด โดยเฉพาะการให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่น ที่ยังถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่

"การที่เมืองพัทยามีธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา อยู่ในพื้นที่ และมีการประสานการทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการทำงานของภาคส่วนท้องถิ่น เพราะเมื่อนำองค์ความรู้จากภาควิชาการมาทำงานร่วมกับโจทย์ปัญหาของพื้นที่ จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการ" นายปรเมศวร์ กล่าว