ครั้งแรกของโลก! “มหิดล” ค้นพบ “เชื้อลิชมาเนีย” สายพันธุ์ใหม่

02 ส.ค. 2567 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 05:42 น.

ครั้งแรกของโลก “ม.มหิดล” ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ค้นพบเชื้อโปรโตซัวก่อโรคลิชมาเนียสายพันธุ์ใหม่ “ลิชมาเนีย” ติดเชื้อได้โดยมีแมลงเป็นพาหะ

“โรคลิชมาเนีย” (Leishmaniasis) ได้รับการประกาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งมีการแพร่ระบาดในเขตร้อนชื้น และเขตอบอุ่นของโลก รวมไปถึงบริเวณป่าที่มีฝนตกชุก ซึ่งคนสามารถติดเชื้อผ่านการถูกแมลงพาหะ “ริ้นฝอยทราย” (Sandfly) กัด แต่จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นพบว่า “ริ้นน้ำเค็ม” (Biting midges) ซึ่งพบในประเทศไทยเป็นจำนวนมากด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช ศิริพัฒนพิพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดเผยว่า ม.มหิดลร่วมกับทีมวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ค้นพบเชื้อโปรโตซัวก่อโรคลิชมาเนียสายพันธุ์ใหม่ “Leishmania orientalis” ครั้งแรกของโลก  จากการศึกษาด้านระบาดวิทยาของเชื้อสายพันธุ์นี้เป็นเวลากว่า 10 ปี ปัจจุบันยังพบการแพร่ระบาดเฉพาะในประเทศไทย โดยเฉพาะแถบภาคเหนือและใต้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช ศิริพัฒนพิพงษ์

นับตั้งแต่การประกาศการค้นพบเชื้อโปรโตซัวก่อโรคลิชมาเนียสายพันธุ์ใหม่ ทีมวิจัยได้ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเชื้อสายพันธุ์นี้อย่างต่อเนื่อง จนได้นำไปสู่การพัฒนาการตรวจการติดเชื้อด้วยเทคนิคระดับโมเลกุล โดยเป็นผลงานภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดลและวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Scientific Reports” เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

เบื้องต้นสามารถตรวจการติดเชื้อจากเลือดผ่านหลอดทดลองทางห้องปฏิบัติการ และถัดมาทีมวิจัยได้มีการพัฒนาสู่นวัตกรรมที่ทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวได้ง่ายขึ้นในแบบของ “แถบตรวจเชื้อก่อโรคลิชมาเนีย” ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

ครั้งแรกของโลก! “มหิดล” ค้นพบ “เชื้อลิชมาเนีย” สายพันธุ์ใหม่

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้จับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (The University of Glasgow) สหราชอาณาจักร เพื่อขยายความร่วมมือสู่ระดับโลก ทำการศึกษาวิจัยในเชิงลึกต่อไป

ผู้ป่วยโรคลิชมาเนียมีอาการแสดงของโรคได้หลายแบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อที่ติด มีทั้งลักษณะแผลเปื่อยบริเวณผิวหนัง (Cutaneous leishmaniasis) ซึ่งสามารถหายได้เอง ไปจนถึงเยื่อบุบริเวณปากและจมูก (Mucocutaneous leishmaniasis) แต่โรคลิชมาเนียที่มีอาการรุนแรงที่สุด คือ การติดเชื้อที่อวัยวะภายใน (Visceral leishmaniasis) โดยผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ตับและม้ามโตขึ้น และเซลล์เม็ดเลือดต่ำลงผิดปกติ ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลารักษาตัวภายในโรงพยาบาลนานถึง 3 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี คนสามารถติดเชื้อลิชมาเนียผ่านการถูกแมลงพาหะ “ริ้นฝอยทราย” (Sandfly) กัด แต่จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นพบว่า “ริ้นน้ำเค็ม” (Biting midges) ซึ่งพบในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาจสามารถเป็นพาหะนำโรคลิชมาเนียได้ด้วย นอกจากนี้ สัตว์จำพวกสัตว์เลี้ยง และสัตว์ปศุสัตว์ ยังสามารถเป็น “รังโรค” ซึ่งอาจทำให้การระบาดของเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็วหากไม่มีการเฝ้าระวังที่ดี

ครั้งแรกของโลก! “มหิดล” ค้นพบ “เชื้อลิชมาเนีย” สายพันธุ์ใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช ศิริพัฒนพิพงษ์ และทีมวิจัยได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ที่ได้รับเชื้อลิชมาเนีย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ว่าอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ การศึกษาเพื่อให้ทราบถึงความชุกของโรคที่แท้จริง