นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธีเปิดงาน World Organ Donation Day 2024 ภายใต้แคมเปญ “Give LIFE Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดำเนินงานการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยบรรจุเป็นสาขาหนึ่งในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และมีนโยบายจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ
พร้อมพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะและศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทย สร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะจาก 1 ชีวิต ที่สามารถนำอวัยวะต่างๆ ไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกถึง 8 ชีวิต เป็นการให้ชีวิตใหม่แก่เพื่อนมนุษย์หลังเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
ทั้งนี้ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย องค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความรู้ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการบริจาคอวัยวะมากขึ้น โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเหล่าดาราและศิลปินจำนวนมาก อาทิ คุณแอน ทองประสม, คุณพลอย เฌอมาลย์, บุญยศักดิ์, คุณคริส ศิริน หอวัง ที่ได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้ว นอกจากนี้ยังมี คุณแพรรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร มาพูดคุยเกี่ยวกับความเชื่อที่ไม่ถูกต้องต่างๆ เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ เสวนาพูดคุยกับ “ผู้ให้” “ผู้รับ” และ “ผู้รอ” เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและร่วมบริจาคอวัยวะเป็นจำนวนมาก ที่บริเวณโซน Eden ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะสะสม จำนวน 1,646,469 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของประชากรทั่วประเทศ และในปี 2567 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้วทั้งสิ้นเพียง 485 ราย เนื่องจากผู้ที่สามารถบริจาคได้ต้องอยู่ในภาวะ “สมองตาย” และญาติต้องยินยอมเท่านั้น หรือเป็นโรคติดเชื้อรุนแรง มะเร็ง หรืออวัยวะเสื่อม ก็ไม่สามารถบริจาคได้ จึงมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวนมาก
โดยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวนมากถึงหลักแสนคนขึ้นไป และทุกวันนี้ต้องล้างไตผ่านช่องท้องหรือไม่ก็ฟอกเลือด แต่วิธีดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต ซึ่งก็ต้องรอรับอวัยวะบริจาค ขณะที่ดวงตาก็เช่นกันมีผู้มองไม่เห็นหลักหมื่นคน แต่ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจริงๆ ได้เพียงปีละไม่ถึง 1,000 คน ซึ่งอวัยวะทุกส่วนยังมีคนไข้อีกจำนวนมากที่เฝ้ารออย่างมีความหวัง โดย 1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต สามารถบริจาคได้ 8 อวัยวะ ได้แก่ ไต 2 ข้าง ปอด 2 ข้าง หัวใจ ตับ ตับอ่อน และลำไส้เล็ก
นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ กระจกตา ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูกและเส้นเอ็น และในการส่งทีมแพทย์และพยาบาลไปยังโรงพยาบาลที่มีผู้บริจาคสมองตายต่างๆ เพื่อนำผ่าตัดเอาอวัยวะออก และเก็บรักษาไว้ด้วยน้ำยาถนอมอวัยวะในกระติกน้ำแข็งและเอากลับมาผ่าตัดให้ทันที เพราะอวัยวะที่ผ่าตัดมานั้นมีเวลาขาดเลือดจำกัด โดยหัวใจ อยู่ได้แค่ 4 ชั่วโมง ตับ 12 ชั่วโมง ไต 24 ชั่วโมง ทีมแพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลา
“สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่า การบริจาคอวัยวะและดวงตา เป็นบุญในการช่วยชีวิต อย่ากลัวว่าบริจาคไปเมื่อเราไปเกิดในชาติหน้าจะทำให้พิการ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ แต่ที่แน่ๆเราทำดีก็ต้องได้สิ่งดีๆ แต่ก็เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องช่วยกันหลายๆฝ่าย เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นที่ผ่านมาพบว่า 80% เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ แต่มีเพียง 20% ที่จะยอมบริจาคอวัยวะ กิจกรรมในวันนี้จึงจะช่วยให้ความรู้ กระตุ้นให้คนหันมาเห็นความสำคัญ และบริจาคอวัยวะกันมากขึ้น”
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคอวัยวะ สามารถบริจาคผ่านได้ผ่านเว็บไซต์ หรือ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะบริจาคด้วยตนเอง ที่สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) รวมทั้งบริจาคผ่านเครือข่ายฯ อาทิ สำนักเหล่ากาชาดจังหวัด หรือ สำนักงานกิ่งกาชาด ทุกจังหวัด, โรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ, สำนักงานเขต เทศบาล และเมืองพัทยา ที่ให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน, ผ่าน แอปพลิเคชัน และ Line OA “หมอพร้อม”, กรมการขนส่งทางบก
สำหรับผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้วสามารถแจ้งความประสงค์ขอเพิ่มสัญลักษณ์ ของสภากาชาดไทย “กากบาทแดงบนพื้นสีขาว” และเพิ่มข้อความ “บริจาคอวัยวะ” ให้แสดงบนหน้าใบอนุญาตขับรถ