ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช. เขต 13 กทม.) ได้เร่งกระจายสติ๊กเกอร์ตราสัญลักษณ์ (Logo) "30 บาทรักษาทุกที่" ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้กับหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้บริการตามนโยบาย
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และทางทีมผู้บริหาร สปสช. นอกจากลงพื้นที่ตรวจดูความพร้อมการให้บริการของหน่วยบริการแล้วยังได้ทำการติดสติ๊กเกอร์ฯ ให้กับหน่วยบริการซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ที่ได้ให้บริการแล้วทั้งที่เขตลาดพร้าว และเขตบางเขน
ทั้งนี้ การติดสติ๊กเกอร์ตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่นี้ มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้กับหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการตามนโยบาย และเพื่อเป็นจุดสังเกตชัดเจน สำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรับทราบว่า หน่วยบริการแห่งนี้สามารถใช้สิทธิเข้ารับบริการสุขภาพได้ ตามการให้บริการประเภทของหน่วยบริการภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ภายในเดือนกันยายนนี้ สปสช. เขต 13 กทม. จะทำการจัดส่งสติ๊กเกอร์ให้กับหน่วยบริการที่ให้บริการตามนโยบายฯ ทั้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ของกรุงเทพมหานคร คลินิกชุมชนอบอุ่นจำนวน 276 แห่ง รวมทั้งหน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภท ทั้งคลินิกเอกชนต่างๆ และร้านยาคุณภาพอีกจำนวน 1,331 แห่ง
สำหรับในส่วนของหน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภท กระจายอยู่ตามเขตต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ล่าสุดมีจำนวนที่เข้าร่วมแล้ว ดังนี้
ตรวจสอบรายชื่อร้านยา 30 บาทรักษาทุกที่ ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ (คลิกที่นี่)
ตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการเอกชน 30 บาทรักษาทุกที่ (คลิกที่นี่)
นอกจากนี้จากข้อมูลการรับบริการของประชาชนสิทธิบัตรทองใน กทม. หลังจากที่ได้นำร่องบางส่วนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนกระทั่งได้เปิดให้บริการตามนโยบายฯ เต็มรูปแบบแล้ว มีประชาชนเข้ารับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรมฯ แล้วกว่า 144,884 ราย รวมเป็นจำนวน 246,164 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ย.67) และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนเข้ารับบริการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากที่ได้ลงพื้นที่ตลาดถนอมมิตร เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนที่เคยใช้บริการตามนโยบายฯ นี้ ความเห็นส่วนใหญ่ คือ ชอบแนวคิดของโครงการเพราะรับบริการได้รวดเร็ว สะดวก ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวก็ใช้สิทธิบัตรทองในบริการเบื้องต้นได้ก่อน แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มีข้อสงสัยในรูปแบบการให้บริการที่ยังไม่เข้าใจมากนัก
โดยทาง สปสช. จะนำความคิดเห็นต่าง ๆ เหล่านี้ ไปปรับปรุงให้ดีขึ้น สร้างข้อมูลที่เข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
สำหรับความเห็นของทางหน่วยบริการนวัตกรรมที่ร่วมให้บริการนั้น ทพ.อรรถพร ให้ข้อมูลว่า จากที่ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยมองว่า เป็นนโยบายที่ดี ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น
ขณะที่หน่วยบริการนวัตกรรมเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยเสริมช่องว่างการให้บริการที่บางพื้นที่ประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิ และในทางวิชาชีพได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพในการช่วยดูแลสุขภาพให้กับประชาชนได้