ปัญหาที่รอแก้ไข “30 บาทรักษาทุกที่”

05 ก.ย. 2567 | 04:55 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2567 | 05:00 น.

ปัญหาที่รอแก้ไข “30 บาทรักษาทุกที่” : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,024 วันที่ 5 - 7 กันยายน พ.ศ. 2567

ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แน่นอน เมื่อโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เริ่มออกมาพูดถึงสภาพปัญหาทางการเงิน หลังประสบปัญหาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ปรับลดงบบัตรทองกองทุนผู้ป่วยใน ลดลงจากการคิดอัตราจ่ายตามค่า DRGs หรือ Diagnostic Related Groups เป็นระบบการวินิจฉัยโรคร่วม

โดยมีอัตราจ่ายเดิมอยู่ที่ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วยนํ้าหนักสัมพัทธ์ (adjRW) ซึ่งเป็นการคำนวณการจ่ายเงินตามกลุ่มโรค ซึ่งสปสช.จ่ายลดลงเหลือ 7,000 บาท ขณะที่โรงพยาบาลบางแห่งได้รับเพียง 5,000บาทต่อ adjRW เท่านั้น

เหตุผลหลักของ สปสช. คือ การปรับเปลี่ยนค่า DRGs ระบบการวินิจฉัยโรคร่วม ที่เปลี่ยนจากเวอร์ชั่น 5 เป็นเวอร์ชั่น 6 ตามหลักการที่ต้องรอการคำนวณทางบัญชี จะสามารถจ่ายเงินให้รพ.ต่างๆ ได้ภายในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งจะทยอยเคลียร์ให้หมด ไม่ให้ค้างท่อ เพราะรพ.อาจเดือดร้อนเรื่องสภาพคล่อง โดยจะนำเงินจำนวน 1,514 ล้านบาทจัดสรรลงไปก่อน

และแม้ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะสั่งการให้จัดสรรงบกลางออกมาเป็นเงินกองทุนฯ จำนวน 7,100 ล้านบาท แต่ก็ต้องรอมติบอร์ด สปสช. ว่าจะสามารถนำมาจ่ายให้กับร้านยา คลินิกต่างๆ ได้หรือไม่

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินให้กับรพ. ต่างๆ เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาเยอะ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร หลังมีคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ฯลฯ ออกมาทวงถามถึงเงินค่ารักษาที่ล่าช้า ซึ่งผลดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนหนึ่ง (ที่สำคัญ) ทำให้การเริ่มใช้ “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ใน กทม. ล่าช้า จากเดิมที่ให้เหตุผลเรื่องของการเชื่อมโยงระบบที่ยังไม่พร้อมแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาทั้งเรื่องของการส่งตัวผู้ป่วย รวมถึงการเบิกจ่าย

อย่างไรก็ดี ปัญหาต่างๆ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่น ทำให้โรงพยาบาล คลินิก ร้านยา ฯลฯ ไม่อยากเข้าร่วมกับ สปสช. ในการให้บริการผู้ถือบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

ซึ่งหากวันนี้กทม. ซึ่งมีประชาชนกว่า 10 ล้านคน ที่ถือบัตรทอง และสามารถเข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการใดก็ได้ใกล้บ้าน และหากเกินศักยภาพการดูแล ก็สามารถส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายได้ 

ส่วนบริการที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 ประเภท ก็ขยายเพิ่มอีก 10 ประเภท รวมเป็น 17 บริการ แต่มีหน่วยบริการที่เป็นศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดกทม. 69 แห่ง รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่นอีกประมาณ 280 แห่ง และหน่วยบริการทางเลือกใหม่ ได้แก่ 1.คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น 167 แห่ง 2.คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 173 แห่ง 3.ร้านยาคุณภาพ 901 แห่ง 4.คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 23 แห่ง 5.คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น 13 แห่ง 6.คลินิกแพทย์แผนไทย 25 แห่ง และ 7.คลินิกเทคนิคการแพทย์ 29 แห่ง 

แม้วันนี้ สปสช.กทม. จะเปิดรับสมัครหน่วยบริการเพิ่ม แต่ดูเหมือนกระแสตอบรับจะไม่ได้ดีตามที่คาดหวัง ก็ล้วนมาจากกระแสข่าวและการบอกต่อของบรรดาคลินิกต่างๆ ด้วยกันเอง

คำถามคือ จะเพียงพอกับความต้องการของประชาชนกว่า 10 ล้านคนในกทม. หรือไม่