12 กันยายน 2567 ที่หอประชุมวงษ์ชวลิตกุล มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบหมายให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. เปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "นวัตกรรมการจัดการสุขภาพยั่งยืนสู่การยกระดับบริการสาธารณสุขในยุคดิจิทัล โดยมี บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมงาน 5,000 คน
นพ.โอภาส ปลัดสธ. กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องนับเป็นเรื่องที่ดีความสำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า นอกจากเป็นเวทีแสดงผลงานการพัฒนางานทางการแพทย์และสาธารณสุข ยังเป็นช่องทางในการระดมความคิด เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งยังเป็นอีกช่องทางในการระดมความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อนโยบายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข 5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ
สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีด้านสาธารณสุข (พ.ศ.2560-2579) ให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals :SDGs)
สำหรับปีนี้มีการจัดบูธนิทรรศการให้ความรู้ถึง 30 บูธ และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ 1,062 ผลงาน แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยและยังสามารถนำมาจดสิทธิบัตรเพื่อต่อยอดขยายผลทางการค้า ลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้
พร้อมร่วมแสดงความยินดีกับนักการสาธารณสุขดีเด่น "รางวัลชัยนาทนเรนทร" ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงคุณค่าและเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ดังนี้
1.ประเภทวิชาการ ได้แก่ ศ.(เกียรติคุณ) นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ที่ปรึกษาภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บุกเบิกและวางรากฐานระบบงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ
2.ประเภทบริการ ได้แก่ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก แพทย์ชนบทดีเด่น
3.ประเภทผู้นำชุมชน ได้แก่ นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน จ.น่าน ผู้นำการขับเคลื่อนนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โครงการ จิตอาสาทำดี ที่เมืองน่าน
4.ประเภทประชาชน ได้แก่ นางวันทิตย์ ชอบจิตต์ อสม. ต.ดงเจน จ.พะเยา ผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตในชุมชน" เฮือนแม่หญิงดงเจน
สำหรับผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2566 มีผู้ได้รับรางวัล 6 คน ได้แก่
1. นพ.ภาคิน ธนการเวคิน รพ.บรบือ จ.มหาสารคาม เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็ก โรงพยาบาลบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
2. พญ.ชิดชนก ชูวงศ์โกมล รพ.มหาราชนครราชสีมา เรื่อง Effect of a Single-dose Dexmedetomidine on Postoperative Delirium and Intraoperative Hemodynamic Outcomes in Elderly Hip Surgery; a Randomized Controlled Trial.
3. นางสุภาพรณ์ ตัณฑ์สุระ รพ.ขอนแก่น เรื่อง การพัฒนาต้นแบบระบบการดูแลต่อเนื่องหลังการดูแลฉุกเฉินในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและการบาดเจ็บที่สมอง จังหวัดขอนแก่น
4. นางศิโรรัตน์ ชูสกุล รพ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริการทางเภสัชกรรมผู้ป่วยในเพื่อป้องกันการแพ้ยาข้ามกัน ในกลุ่มยาที่มีโอกาสแพ้ข้ามกันสูง ภายใต้บริบทของโรงพยาบาลวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
5. นางสาวนิโลบล เชื่อมสันเทียะ รพ.มหาราชนครราชสีมา เรื่อง ผลการประเมินความเหมาะสมของการสั่งใช้ NOACs ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
6. นายภูริพัฒน์ กะมิง รพ.เทพา จ.สงขลา เรื่อง Thepha Doctor เทคโนโลยีให้บริการสาธารณสุขเพื่อชุมชนและการให้บริการที่เสมอภาคเท่าเทียม อำเภอเทพา
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีนโยบายพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเพิ่มคุณภาพการบริการด้วยการสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ โดยยกระดับโรงพยาบาลเป็น 3 ระดับ ได้แก่
-โรงพยาบาลมาตรฐาน (Standard Hospital : S)
-โรงพยาบาลที่เป็นแหล่งฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (Academy Hospital : A)
-โรงพยาบาลที่ให้บริการขั้นสูง (Premium Hospital : P)
ได้จัดให้มีการมอบรางวัลยกระดับหน่วยบริการดีเด่น หรือ SAP Award ประจำปี 2567 ขึ้นเป็นปีแรก ประกอบด้วย
1.โรงพยาบาล "ปรับโฉมดีเด่น" ระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ได้แก่ โรงพยาบาลสวรรคประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ และโรงพยาบาลหนองคาย จ.หนองคาย ระดับโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลโคกสูง จ.สระแก้ว และโรงพยาบาลสามชุก จ.สุพรรณบุรี
2.โรงพยาบาล "เอกลักษณ์โดดเด่น" ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี จากการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์แผนไทย
รวมทั้งมอบรางวัล "การดำเนินงานตามนโยบายการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ด้านการสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ ในระดับเขตสุขภาพ โดยเขตสุขภาพที่ 9 ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยม (Platinum Award) เขตสุขภาพที่ 1 ได้รับรางวัลระดับดีเด่น (Gold Award) และเขตสุขภาพที่ 12 ได้รับรางวัลระดับดี (Silver Award)