ผศ.ดร.นพ.ทพ.ชาญชาย วงศ์ชื่นสุนทร ศัลยแพทย์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดโครงหน้าและขากรรไกร ศูนย์ศัลยกรรมปรับโครงหน้า โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยปี 2566 มีมูลค่า 70,000 ล้านบาท เติบโต 2.3 - 3.6%
นอกจากนี้ อายุเฉลี่ยของผู้ทำศัลยกรรมในไทยยังน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ฐานลูกค้ากว้างขึ้นและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ
โดยปัจจุบัน นอกจากกลุ่มผู้หญิง Gen Y และ LGBTQIA+ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของวงการแล้ว พบว่ากลุ่ม Gen Z และผู้ชายก็หันมาพิจารณาการทำศัลยกรรมเพื่อกำหนดรูปลักษณ์ของตนเองมากขึ้น (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ขณะที่ไตรมาสที่ 4 มองว่าภาพรวมธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยจะเติบโตขึ้น 5-10% ส่งท้ายปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีเทศกาลสำคัญหลายเทศกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมักจะใช้จ่ายเพื่อความสวยความงามและการปรับปรุงรูปลักษณ์
โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเพื่อท่องเที่ยวและทำศัลยกรรมความงามควบคู่กันไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 โรงพยาบาลวิมุต เปิดตัว "ศูนย์ศัลยกรรมปรับโครงหน้า"พร้อมปักหมุดร่วมดันไทยสู่ฮับด้านความงามอันดับต้น ๆ ของเอเชีย
สำหรับแผนธุรกิจศูนย์ศัลยกรรมปรับโครงหน้า รพ.วิมุต โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างการรับรู้และดึงดูดลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ มีกลยุทธ์หลักดังนี้
ผศ.ดร.นพ.ทพ.ชาญชาย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เข้ารับบริการศัลยกรรมความงามเป็นคนไทย 80% และชาวต่างชาติ 20% โดยในอนาคตจะให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติจากภูมิภาคตะวันออกกลางและ CLMV มากขึ้นเนื่องจากความต้องการที่สูงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและ CLMV มีความต้องการด้านการศัลยกรรมความงามที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกและการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจศัลยกรรมความงาม
ประกอบกับประเทศในภูมิภาคเหล่านี้มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนชั้นกลางที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีราคาสูง เช่น การทำศัลยกรรมความงาม
โดยประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการท่องเที่ยวและการบริการทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงการศัลยกรรมความงาม ทำให้ผู้บริโภคชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของบริการและความปลอดภัยและรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การศัลยกรรมความงาม ทำให้การดำเนินธุรกิจในด้านนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
ผศ.ดร.นพ.ทพ.ชาญชาย กล่าวต่อว่า จะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่รพ. วิมุตได้ 20 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นแตะ 30 ล้านบาทภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าจับตามองอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับรายได้รวมของโรงพยาบาลวิมุตในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท
การเปิดตัวศูนย์ศัลยกรรมปรับโครงหน้าในครั้งนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญของโรงพยาบาลวิมุตในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก และพร้อมที่จะลงทุนกับการปรับปรุงรูปร่างหน้าตาให้ดูดีขึ้น
ศูนย์ศัลยกรรมปรับโครงหน้าของโรงพยาบาลวิมุต ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ในด้านศัลยกรรมตกแต่งของประเทศไทยอีกด้วย
ผศ.ดร.นพ.ทพ.ชาญชาย กล่าวอีกว่า ตลาดศัลยกรรมปรับโครงหน้าในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มอายุตั้งแต่ 20 - 45 ปี หันมาให้ความสนใจศัลยกรรมตกแต่งกันมากขึ้น
ซึ่งทิศทางนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังแพร่หลายไปทั่วโลก โดยบ่อยครั้งความโดดเด่นของใบหน้าขึ้นอยู่กับโครงหน้าที่ได้สัดส่วน และส่วนของกระดูกโครงหน้าที่ถือเป็นจุดเด่น ได้แก่ โหนกแก้ม กราม คาง โหนกคิ้ว และขากรรไกร
ดังนั้นผู้มีความผิดปกติของโครงหน้าหรือโครงหน้าไม่ได้สัดส่วน สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไขผ่านการผ่าตัดโครงหน้าและขากรรไกรได้
"ในยุคของโซเชียลมีเดีย ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์มีความสำคัญมากกว่าแต่ก่อน และการเสริมความงามไม่ใช่เรื่องของเพศใดเพศหนึ่งแล้ว
จากแบบสำรวจ SCB EIC Health & Wellness 2023 พบว่า นอกจากผู้หญิงและ LGBTQIA+ จะเป็นฐานลูกค้าสำคัญของธุรกิจด้านความงามแล้ว ผู้ชายเองก็มีแนวโน้มสนใจและมีความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมในอนาคตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ"
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนอายุน้อยอย่าง Gen Z ก็พร้อมลงทุนกับการศัลยกรรมเช่นกัน ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่มีทัศนคติเปิดรับการปรับแก้ไขรูปลักษณ์เพื่อให้ตนเองได้เปลี่ยนหน้าตาในแบบที่ตนเองต้องการ ฐานผู้ใช้บริการศัลยกรรมจึงกว้างมากขึ้นและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายของศัลยกรรมปรับโครงหน้า บางครั้งไม่ได้ทำเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการแก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ปากแหว่ง ความผิดปกติจากอุบัติเหตุหรือโรคบางชนิด ความผิดปกติของขากรรไกรที่ทำให้ฟันไม่สบกันจนกระทบการบดเคี้ยวอาหาร เป็นต้น