จากกรณีหลายโรงพยาบาลประสบกับปัญหาเรื่องต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ตามจำนวนของผู้ประกันตนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปรับลดการจ่ายค่ารักษาในกรณีอื่นๆ รวมทั้งไม่เคยถูกปรับค่ารักษาเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงพยาบาลบางแห่งมีแนวคิดถอนตัวออกจากการเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม เพราะไม่สามารถแบกรับภาระที่เกิดขึ้นได้ และข้อมูลสถิติกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พบว่าสัดส่วนผู้ใช้บริการมากขึ้นทุกปี ในปี 2567 มีผู้ประกันตนรวมทั้งหมด 24.67 ล้านคน มีสถานพยาบาลให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตนทั้งหมด 267 แห่ง
ล่าสุดมี 2 โรงพยาบาลเอกชน ได้ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมแล้ว คือ
โดยทั้ง 2 โรงพยาบาลจะยุติการให้บริการผู้ประกันตนจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567 หรือสิ้นปีนี้เท่านั้น และได้แนะนำให้ผู้ประกันตนเริ่มพิจารณาโรงพยาบาลใหม่ เพื่อวางแผนในการย้ายสิทธิการรักษาในปีต่อไป ซึ่งตามประกาศไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมแต่อย่างใด
ด้าน นายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ปรับลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทั้งสองปี ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว รวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายตามประมาณการรายได้ ทำให้การปรับลดงบประมาณนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล
แม้ในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมจะปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายจาก 1,640 บาท เป็น 1,808 บาท แต่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังกลับไม่มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับระบบประกันสังคมลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมลดลงจาก 120 แห่ง เหลือเพียง 93 แห่งในปัจจุบัน แม้จะมีโรงพยาบาลใหม่เข้าร่วมบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้มากพอ
หากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป จะส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมหลายแห่งอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม ส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนลดลง และถ้าโรงพยาบาลเอกชนลดลงจะสร้างภาระให้กับโรงพยาบาลรัฐที่ต้องรองรับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น