"โรงพยาบาลนครธน" ยกระดับนวัตกรรม "AI" รักษาภาวะมีบุตรยาก

01 ต.ค. 2567 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2567 | 07:39 น.

โรงพยาบาลนครธน" ยกระดับนวัตกรรม "AI" รักษาภาวะมีบุตรยาก ระบุเป็นการเพิ่มความแม่นยำในการประเมินคุณภาพน้ำเชื้อ รวมถึงสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกและนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนได้

นพ.นภดล ใยบัวเทศ สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ เปิดเผยว่า ได้มีการพัฒนาวิธีการกษาภาวะมีบุตรยาก โดยนำนวัตกรรมมาปรับใช้ ซึ่งเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจน้ำเชื้อ

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการประเมินคุณภาพของน้ำเชื้อ รวมถึงสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกและนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนได้ในเวลารวดเร็ว โดยการทำงานของ AI ในการตรวจน้ำเชื้อคือการทำหน้าที่เหมือนกับนักวิเคราะห์ดิจิทัลที่เรียนรู้จากข้อมูลหลายพันรายการในอดีต และพัฒนาขึ้นมาเพื่อประเมินคุณภาพของสเปิร์มได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว 

โดยกระบวนการทำงานของ AI ในการตรวจน้ำเชื้อจะเริ่มจากการถ่ายภาพหรือวิดีโอของน้ำเชื้อผ่านกล้องจุลทรรศน์ จากนั้น AI จะวิเคราะห์คุณสมบัติหลัก ๆ ของสเปิร์ม ทั้ง การเคลื่อนที่ของสเปิร์ม (Motility) ซึ่ง AI สามารถติดตามและประเมินความสามารถในการเคลื่อนที่ของสเปิร์มได้อย่างละเอียด โดยแยกแยะระหว่างสเปิร์มที่เคลื่อนไหวได้ดี เคลื่อนไหวผิดปกติ หรือไม่เคลื่อนไหวเลย 

,รูปร่างของสเปิร์ม (Morphology) ซึ่ง AI สามารถวิเคราะห์รูปร่างของสเปิร์มได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าสเปิร์มนั้นมีความสมบูรณ์เพียงพอสำหรับการปฏิสนธิหรือไม่ 

"โรงพยาบาลนครธน" ยกระดับนวัตกรรม "AI" รักษาภาวะมีบุตรยาก

และจำนวนสเปิร์ม (Concentration) โดย AI สามารถนับจำนวนสเปิร์มต่อมิลลิลิตรของน้ำอสุจิได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งช่วยในการประเมินความหนาแน่นของสเปิร์มในตัวอย่างน้ำเชื้อ 

การวิเคราะห์ดังกล่าวเหล่านี้ทำให้แพทย์สามารถประเมินภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถนำข้อมูลไปปรับแผนการรักษาเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
 

นายพงษ์เพชร เบญจพลวัฒนา นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ประจำศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า ข้อดีของการใช้ AI ในการตรวจน้ำเชื้อ ประกอบด้วย ความแม่นยำที่สูงขึ้น AI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล ได้แม่นยำกว่าสายตามนุษย์ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือมากขึ้น 

,ความรวดเร็วในการวิเคราะห์ โดยการประมวลผลด้วย AI สามารถให้ผลลัพธ์ได้รวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการตรวจและวินิจฉัยปัญหา เป็นต้น 

การใช้ AI ในการตรวจน้ำเชื้อช่วยให้แพทย์สามารถออกแบบแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ เช่น การเลือกสเปิร์มที่มีคุณสมบัติดีที่สุดเพื่อใช้ในกระบวนการ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ทำให้มีโอกาสในการปฏิสนธิสูงขึ้น และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ โดยเชื่อว่า AI จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาภาวะมีบุตรยากในอนาคต