รัฐบาลเตรียมเดินหน้านโยบายการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ในสินค้ากลุ่มน้ำมัน และแอลพีจี ซึ่งเป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ โดยล่าสุดกระทรวงการคลังระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ต่อเรื่องดังกล่าวแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามหลักการแล้วภาษีดังกล่าวคือการจัดเก็บเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในไทยอย่างแน่นอนในเบื้องต้น เพราะถือว่าเป็นภาษีชนิดหนึ่งที่ต้องจัดเก็บ และจะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น
แต่สิ่งที่จะได้รับกลับมาก็คือการที่สามารถทำให้โลกสะอาดมากขึ้น จากการที่ผู้บริโภคถูกบังคับให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลดคาร์บอน
อย่างไรก็ดี มองว่ารัฐบาลยังไม่น่าจะทำให้ราคาขายน้ำมันในประเทศเปลี่ยนในช่วงแรก เนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันของไทยมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการเพิ่มช่องทางจัดเก็บภาษีขึ้น อาจจะทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยแน่นอน
ดังนั้น ในความเห็นส่วนตัว มองถึงวิธีการดำเนินการคือ การนำภาษีคาร์บอนไปแฝงอยู่ในภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บอยู่ 5.99% ในภาษีน้ำมัน หลังจากนั้นจึงนำส่วนดังกล่าวไปแบ่งให้เป็นภาษีคาร์บอน หรือหากจะเพิ่มช่องทางการจัดเก็บภาษีก็คงจะต้องลดภาษีสรรพสามิตลง ซึ่งมองว่ารัฐบาลไม่น่าจะเลือกวิธีดังกล่าวนี้
"การเก็บภาษีเพิ่มขึ้น หากไม่มีการปรับลดชนิดเดิม ย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน"
ดังนั้น เชื่อว่ารัฐบาลคงจะทยอยการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมากกว่า ในช่วงแรกน่าจะนำไปแฝงไว้ที่ภาษีสรรพสามิตเดิมมากกว่า หากจะเริ่มในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นค่อยนำไปแบ่งแยกบัญชีกันเองว่าใน 5.99% จะเป็นส่วนของคาร์บอนเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วย เพราะผู้ที่ปล่อยคาร์บอนมากก็ควรที่จะต้องเสียภาษีมาก เช่น หากมีผู้ที่เติมน้ำมันเบนซินแบบไม่ผสม กับผู้ที่เติมน้ำมันเบนซิน E85 ก็ควรที่จะให้ประโยชน์กับผู้ที่เติม E85 เพราะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า
หากจะพูดกันตามความเป็นจริง ปัจจุบันก็ถือว่ามีการเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนไปแล้ว โดยจะสังเกตได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันแต่ละชนิดที่ไม่เท่ากันตามอัตราส่วนการผสมของไบโอดีเซล หรือบี 100 (B 100) ซึ่งก็เป็นการช่วยลดโลกร้อน เพราะฉะนั้น หากมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่ม ประชาชนน่าจะต้องมีคำถามว่าเป็นการจัดเก็บซ้ำซ้อนอีกหรือไม่