ในปีงบประมาณ 2567 มีคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ขอยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท จำนวน 30 แห่งดูแลประชากรครอบคลุมผู้มีสิทธิฯ จำนวน 108,316 คน นั้น
ความคืบหน้าล่าสุด พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปสช. เขต 13 กทม. ได้ดำเนินการลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ให้กับประชากรดังกล่าวแล้ว ทั้งที่หน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวน 110 แห่ง และหน่วยบริการประจำ จำนวน 23 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อ จำนวน 16 แห่ง
โดยพิจารณาความเหมาะสมตามข้อมูลทะเบียนบ้าน เช่น เลือกหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ที่สุด จัดสรรผู้มีสิทธิบัตรทองในครอบครัวเดียวกันไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิเดียวกัน การปรับเกลี่ยผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่คำนึงถึงภาระหน่วยบริการ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในจำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ขอยกเลิกสัญญาฯ ข้างต้นนี้ มี 18 แห่ง ที่ขอร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบฯ หรือเป็นคลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่นแทน และมี 14 แห่ง ที่ได้สิ้นสุดสัญญาการเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา
ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่เข้ารับบริการเกิดปัญหาติดขัดในการเข้ารับบริการและโทรเข้ามายังสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อสอบถาม ขอข้อมูล และมีกรณีร้องเรียนร้องทุกข์ ส่วนใหญ่เป็นกรณีถูกปฏิเสธการส่งตัวทั้งที่เคยได้รับการส่งตัวแล้ว หรือถูกปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลรับส่งต่อ เป็นต้น
พญ.ลลิตยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สายด่วน สปสช. 1330 ได้เร่งประสานกับหน่วยบริการในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นแล้ว และเพื่อให้การดำเนินการของหน่วยบริการไปในทิศทางเดียวกัน
สปสช. ได้ส่งหนังสือซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการให้บริการผู้ป่วยนอกกรณี "คลินิกชุมชนอบอุ่น" ลาออกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปยังหน่วยบริการใน กทม. ทุกแห่ง ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงโรงเรียนแพทย์เพื่อขอความร่วมมือในแนวทางการให้บริการ ไม่ให้มีผลกระทบต่อการรับบริการของประชาชน ดังนี้
1.กรณีประชาชนมีใบส่งตัวเดิมและยังไม่หมดอายุในวันที่เข้ารับบริการ ซึ่งเป็นการส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดแห่งเดิม ขอให้หน่วยบริการที่ระบุในใบส่งตัวให้บริการแก่ผู้มีสิทธิ โดยไม่ต้องให้ผู้มีสิทธิกลับไปขอใบส่งตัวจากหน่วยบริการปฐมภูมิตันสังกัดแห่งใหม่ และให้ใช้เลขใบส่งตัวเดิมในการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือหน่วยบริการที่รักษาสรุปประวัติการรักษาและทำความเข้าใจกับผู้มีสิทธิ ให้กลับไปรับบริการหน่วยปฐมภูมิแห่งใหม่ เพื่อพิจารณาการรักษาหรือส่งต่อกรณีเกินศักยภาพ
2.กรณีประชาชนไม่มีใบส่งตัว ให้หน่วยบริการพิจารณาให้ผู้รับบริการใช้สิทธิอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน (OPAE) หรือเหตุสมควร (OP Anywhere) ตามแต่กรณีโดยไม่ต้องกลับไปขอรับใบส่งตัว
3.ขอความร่วมมือหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดแห่งเดิม จัดเตรียมประวัติการรักษาให้ผู้มีสิทธิ เพื่อใช้ประกอบในการรักษาสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดแห่งใหม่
นอกจากนี้ สปสช. ยังอยู่ระหว่างการหารือเพิ่มเติมเพื่อจัดสรรประชากรที่ไม่ตรงกับหน่วยบริการรับส่งต่อเดิมซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นข้อร้องเรียนของประชาชนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ต่อเนื่องยังโรงพยาบาลรับส่งต่อเดิม อย่างไรก็ดี เบื้องต้นอาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณีเร่งด่วนก่อน