รพ.ในเชียงใหม่ น้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ บุคลากรและแพทย์หายไปกว่า 20%

06 ต.ค. 2567 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2567 | 12:30 น.

เชียงใหม่ น้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ราว 20% ไม่สามารถออกปฏิบัติงานได้ 3 โรงพยาบาลเอกชน และ 1 โรงพยาบาล สังกัดกระทรวงกลาโหมกระทบหนัก ต้องโยกย้ายผู้ป่วยขึ้นชั้นสูง

รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลาย 10 ปี นอกจากท่วมบ้านเรือนประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ยังท่วมพื้นที่โรงพยาบาลให้บริการในระบบสาธารณะสุขหลายแห่ง เบื้องต้นโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ระดับน้ำยังไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด มีเพียงปริมาณน้ำซึมเข้าไปในชั้นใต้ดินของโรงพยาบาลเท่านั้น และยังสามารถรับผู้ป่วยนอก หรือคนไข้ OPD ได้เป็นปกตินับพันคน/วัน

ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ 3 แห่ง อย่างโรงพยาบาลลานนา, โรงพยาบาลราชเวชเชียงใหม่ และโรงพยาบาลแมคคอร์มิค มีน้ำหลากเข้าท่วมชั้นแรกของโรงพยาบาลจนต้องย้ายผู้ป่วยขึ้นไปชั้น 2 แล้ว นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลค่ายกาวิละ เชียงใหม่ ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่อยู่ใกล้ริมน้ำมากที่สุดได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก

ทั้งนี้ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ราว 20% ไม่สามารถออกมาปฏิบัติงานในโรงพยาบาลหรือลงพื้นที่ได้ เพราะหลายคนอาศัยอยู่ติดลุ่มแม่น้ำ ประสบปัญหาน้ำท่วมต้องอยู่แต่ในบ้าน บางคนต้องดูแลคนในครอบครัว โดยประเด็นนี้ทางจังหวัดก็ได้จัดประชุมตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพของประชาชนเพื่อช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน

“ตอนนี้โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาน้ำท่วมถือว่ายังแก้ไขสถานการณ์ได้ โยกย้ายผู้ป่วยขึ้นไปชั้นบนและใช้เครื่องปั่นไฟสำรอง ตลอดจนเฝ้าดูสถานการณ์ผู้ป่วยหนักอย่างใกล้ชิด อีกด้านก็มีคนไข้ในกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ติดกับริมน้ำยังคงรอคอยความช่วยเหลือ โดยส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทยอยพาออกมายังศูนย์พักพิง ศูนย์อบพย และได้รับการช่วยเหลือแล้ว แต่อีกส่วนก็ยังคงติดอยู่ในบ้าน”

รศ.นพ.นเรนทร์ กล่าวว่า ปกติจังหวัดเชียงใหม่ก็เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ไม่เคยมีครั้งไหนท่วมหนักขนาดนี้ พื้นที่บางแห่งประสบปัญหาไฟดับ ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ เดินทางสัญจรไม่ได้ ในภาพรวมคนไข้ที่มีนัดกับแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ โทรมาเลื่อนนัดเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันข้อมูลจากพื้นที่น้ำท่วมก็มีคนไข้ได้รับบาดเจ็บหลายราย รวมถึงถูกไฟดูดจนถึงขั้นเสียชีวิตด้วย แต่ยังไม่มีรายงานระบุจำนวนชัดเจน ตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังประสานงานให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดในวันนี้ (6 ตุลาคม 2567) สถานการณ์โดยภาพรวมของโรงพยาบาลที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม ยังมีระบบการจัดการภายในที่ดีและน้ำเริ่มลดระดับลงแล้วเฉลี่ย 5 เซนติเมตร/ชั่วโมง ถือว่าเบาบางลง แต่ก็ต้องรอดูสถานการณ์ในวันต่อไปว่ามวลน้ำจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอีกมากน้อยแค่ไหน เพื่อเตรียมรับมือต่อไป