10 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตอบกระทู้ถามนางสาวชนก จันทาทอง สส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ที่สอบถามถึงความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.อสม.และสิทธิประโยชน์ที่ อสม.จะได้รับ
ทั้งนี้ เนื่องจาก อสม.คือหัวใจสำคัญของสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทย มีบทบาทในการพัฒนาสุขภาพ คุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้กับประชาชน ปัจจุบันมี อสม.1.08 ล้านคน
หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 5 เดือน ซึ่งได้ลงพื้นที่พบปะกับพูดคุย อสม. ผู้บริหารกระทรวงและคนที่เกี่ยวข้องกับ อสม.จึงได้รับรับทราบปัญหาของอสม.เพิ่มเติมจากเดิมที่รับทราบอยู่บ้าง ได้แก่ ความยากลำบากในการทำงาน ความไม่มั่นคงเรื่องค่าป่วยการ
ดังนั้น การออกพ.ร.บ.อสม.จะช่วยบรรเทาความกังวล ทำให้ อสม.มีค่าตอบแทนที่ยั่งยืน ไม่ต้องกังวลว่าในอนาคตจะได้ 2,000 บาท หรือไม่
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารกิจการ อสม.ให้เป็นระบบ มีหลักเกณฑ์ เป็นที่ยอมรับ เพิ่มความชัดเจนบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยร่างพ.ร.บ.มีทั้งหมด 4 หมวด 56 มาตรา
กฎหมายฉบับนี้จะจัดตั้งกองทุน อสม. เพื่อดึงเงินที่ อสม.ช่วยประหยัดได้ จากการดูแลสุขภาพของประชาชน และลดผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล โดยในแต่ละปี สปสช.จะใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซื้อยาจากต่างประเทศถึง 7 หมื่นล้านบาท
ที่เหลือเป็นการดูแลโรคเบาหวาน ความดัน โรคที่ไม่ติดต่อร้ายแรง อย่างฟอกไต 1.5 หมื่นล้านบาท การส่งเสริมสุขภาพตำบล 2.5 หมื่นล้านบาท ถ้าใช้กลไก อสม. ทำให้ผู้ป่วยลดลง เพราะคนป่วยโรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมไม่เหมาะสม และไม่ออกกำลังกาย
ดังนั้น หาก อสม.มีการเสริมความรู้ มีคนป่วยลดลง งบประมาณที่ประหยัดไปได้ ก็อาจจะนำกลับมาตั้งกองทุนช่วย อสม.ได้ การมี พ.ร.บ.นี้ สิทธิประโยชน์ที่ อสม.จะได้รับ คือ เข้าถึงการอบรมพัฒนาทักษะ สวัสดิการในการรักษาพยาบาล ค่าป่วยการที่มั่นคง ก้าวหน้ายั่งยืน รับรองสถานะ สิทธิประโยชน์ค่าป่วยการ 2,000 บาท ที่ไม่ต้องรอ มติ ครม.สร้างความเชื่อมั่นว่า สิทธิประโยชน์อื่น ที่เคยได้ ก็จะได้ตามเดิม สถาบันการเงินพร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์
"หลังจากมีการร่างกฏหมายขึ้นมา เครดิต อสม.ดีขึ้นทันที มีธนาคารให้ความสนใจที่จะปล่อยเงินกู้ให้ ซึ่งขณะนี้กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ของ อสม.เมื่อเสียชีวิตจะได้ 500,000 บาท และเมื่อไม่มีการเกษียณเป็นได้ตลอดชีวิตก็เป็นความมั่นคงในส่วนที่ธนาคารยอมรับเหมือนเป็นหลักประกัน
ขณะนี้มีการต่อรองเรื่องดอกเบี้ย เดิมให้กู้ 2 หมื่นบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่หากพ.ร.บ.นี้ผ่านเป็นกฎหมายเครดิตจะเพิ่มเป็นหนึ่งถึง100,000- 200,000 และดอกเบี้ยได้ต่อรองเหลือร้อยละ 6 มีแนวโน้มที่เป็นไปได้ แต่จะต้องรอกฎหมายในส่วนต่างๆเหล่านี้ ผมเข้าใจว่า สส.หรือ สว.ต้องช่วยกันให้กฎหมายเร็ว" นายสมศักดิ์กล่าว
สำหรับความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.อสม.จากการรับฟังความคิดเห็นระหว่าง 27 มิ.ย.- 11 ก.ค.2567 มีประชาชนมากถึง 346,834 คน เห็นด้วย 88.55% ซึ่งกฎหมายขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เนื่องจากมีการขอจัดตั้งกองทุน อสม.จึงต้องให้คณะกรรมการเสนอความเห็นประกอบก่อนเข้า ครม.ต่อไป
ผู้เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลัง กำลังพูดคุยในรายละเอียดและกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งจัดทำร่างกฎหมายรองซึ่งจะมีประมาณ 12 ฉบับ ปรับปรุงระเบียบฉบับเดิม 6 ฉบับ เนื้อหาใหม่อีก 6 ฉบับ คาดว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นของขวัญให้เป็นของขวัญ อสม.จะแล้วเสร็จและได้ใช้ในปีงบประมาณ 2569 อย่างไรก็ตามถ้ากฎหมายมาถึงสภาขอความกรุณาให้ส.ส. ช่วยใช้เวลาอย่างประหยัดกับกฎหมายดังกล่าวด้วย
สำหรับคำถามว่า อสม.จะได้ประโยชน์ไรบ้างในการตั้งกองทุนนั้น ไม่ใช่อยู่ๆ จะคิดเพื่อให้เงิน อสม.เท่านั้น เพราะตนจะให้ อสม.ทำงานมากขึ้นด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่กระทรวงกำลังเร่งรัดดำเนินการคือส่งเสริม ป้องกันโรค NCDs ด้วยกลไก อสม.
สิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือ ความรู้ดูแลสุขภาพทั้งเรื่องกินออกกำลังกายประชาชนจะมีสุขภาพที่ดีแข็งแรงอสม.จะมีถูกฝึกฝนการใช้เทคโนโลยีมาใช้เป็นระบบสุขภาพดิจิทัลปฐมภูมิ ช่วยดูแลกลุ่มเปราะบางประชาชนอย่างทั่วถึงลดการเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล
"เราต้องหยุดโรคนี้ให้ได้ผมมั่นใจว่า 2-3 ปีนี้ อสม.ขับเคลื่อนเต็มที่จะเป็นส่วนหนึ่งการลดการสูญเสียชีวิตก่อนวัยควร ส่วนกองทุนฌาปนกิจ อสม.อายุน้อยอาจกู้ 1 แสนบาท อายุมาก ก็ได้เพิ่ม 2-3 แสนบาท หากร่างพ.ร.บ.นี้เรื่องก็เข้าสู่สภาฯก็ขอให้ช่วยกันวิเคราะห์ด้วย" นายสมศักดิ์ กล่าว