สธ. แก้ปัญหา NCDs พัฒนาหลักสูตรอบรม อสม. จ่อขยายผลทั่วประเทศ

21 ต.ค. 2567 | 05:00 น.

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จับมือ กรมควบคุมโรค พัฒนาหลักสูตรอบรมครูฝึก อสม. เน้นความรู้โรค NCDs แบบเข้าใจง่ายเพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน คาดแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 2568

ในแต่ละปีมีรายงานว่า ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังกว่า 4 แสนคน สูญเสียงบประมาณไปกับค่ายาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในการรักษาสูงถึง 139,000 ล้านบาท อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่น ๆ อีกกว่า 1.6 ล้านล้านบาท

ล่าสุด วันนี้ (21 ตุลาคม 2567) ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นถึงผลกระทบของปัญหาโรค NCDs ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตประชาชนและงบประมาณของประเทศ จึงมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมดำเนินการป้องกันการเจ็บป่วยของประชาชนจากโรค NCDs

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรม สบส.ได้มีนโยบายในการสนับสนุนการต่อสู้กับโรค NCDs โดยการนำพลังของเครือข่ายภาคประชาชนอย่าง อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้ห่างไกลโรค NCDs แต่การพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของโรค NCDs และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีมาตรฐานนั้น ครูฝึกอบรม อสม. (ครู ก) ซึ่งจะเป็นบุคลากรต้นแบบให้กับ อสม. ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขาดไปมิได้

กรม สบส. จึงร่วมกับกรมควบคุมโรค นำโดยกองโรคไม่ติดต่อ และภาคีเครือข่ายสมาคมระดับประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับ NCDs พัฒนาหลักสูตรครูฝึกอบรม อสม. NCDs ขึ้น โดยดำเนินการยกร่าง หลักสูตรฯ สังเคราะห์ พิจารณาเนื้อหาในแต่ละรายวิชา รวมถึงสื่อการสอนที่เข้าใจง่ายและเป็นมาตรฐานเพื่อนำไปใช้ให้ความรู้ กับ อสม. โดยคาดว่าหลักสูตรต้นแบบสำหรับครูฝึก อสม.จะแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาสแรก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

สธ. แก้ปัญหา NCDs พัฒนาหลักสูตรอบรม อสม. จ่อขยายผลทั่วประเทศ

ด้านนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นเนื้อหาตามหลักสูตรครูฝึกอบรม อสม.ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้ห่างไกลโรค NCDs มีการกำหนดวิชาที่ฝึกอบรมไว้จำนวน 6 วิชา ประกอบด้วย

1.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

2.การทำหน้าที่ครูฝึก ในการสนับสนุน บทบาท อสม. ในการดูแลสุขภาพประชาชนให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

3.โภชนาการและหลักการจัดอาหารจานสุขภาพ

4.แนวทางการจัดกิจกรรมทางกาย

5.เทคนิคการสนทนาสร้างแรงจูงใจ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

6.ภาวะผู้นำและการบริหารจัดการ

ทั้งนี้ อสม. ที่ได้รับการอบรมจากครูฝึกจะสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปใช้ในการคัดกรองสุขภาพ ให้ข้อแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การนับคาร์บ หรือ Carb การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ การออกกำลังกาย และการสร้างอาสาสมัครประจําครอบครัว (อสค.) การเยี่ยมบ้านติดตามร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการร่วมกิจกรรมรณรงค์สุขภาพในชุมชน เพื่อความยั่งยืนเกิดการพึ่งตนเองได้ของประชาชนและชุมชนต่อไป