“สูงวัย” ดันตลาดเสริมอาหาร 1.9 แสนล้านโตแรง แนะรัฐหนุนไทยแข่งขันบนเวทีโลก

23 ต.ค. 2567 | 03:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2567 | 03:20 น.

ตลาดเสริมอาหารไทย 1.9 แสนล้านโตแรง ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ คาดปี 2569 ทะลุ 2.39 แสนล้าน เผยผู้ประกอบการต้องเผชิญปัญหารอบด้าน ทั้งโรงงานผลิต วิจัย นำเข้าสารสกัด ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสูง จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แชร์เข้ามูลการทำงานร่วมกัน เสริมแกร่งทุนไทยแข่งขันบนเวทีโลก

ข้อมูลจากงาน Vitafoods Asia 2024 ระบุว่า ภาพรวมของตลาดเสริมอาหารในเอเชียมีมูลค่า 1.1 แสนดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2572 ตลาดจะเติบโตขึ้นจนมีมูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้นราว 10.26% โดยมีแนวโน้มความต้องการแบ่งออกได้เป็น 7 กลุ่มคือ 1.Holistic aging 2.Immunity & Stamina 3.Brain clarity & Mental relief 4.Active mobility 5.Reversing Beauty Inside-out 6. Heart health rebalance และ 7. eye health

ขณะที่ตลาดเสริมอาหารในไทยปี 2565 พบว่ามีมูลค่า 1.9 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 5.9% ในปี 2569 หรือมีมูลค่า 2.39 แสนล้านบาท ซึ่งเทรนด์การขับเคลื่อนตลาดเสริมอาหาร (Aging Gracefully) มีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ ความต้องการก้าวสู่วัยชราอย่างสง่างาม มีชีวิตยืนยาว ผู้คนต้องการมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ โดยผู้สูงอายุมีความรู้ด้านนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น และสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และประธานคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยเป็นตัวเลข 2 หลักต่อปี หรือประมาณ 10% ต่อปี ปัจจุบันคาดว่ามีมูลค่าตลาด 1.2 แสนล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีจุดแข็ง สามารถพัฒนาและเติบโตในระยะยาว แข่งขันกับต่างประเทศได้

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากคนไทย จะเป็นคอลลาเจนและโปรตีน ที่ใช้เสริมบำรุงผิว ลดน้ำหนัก นิยมมากในกลุ่มคนอายุ 20-40 ปี ถัดมาคือ ผลิตภัณฑ์บำรุงสายตา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุที่กำลังมาแรง ทำให้การแข่งขันในตอนนี้ค่อนข้างสูง แต่ถือว่าแข่งกันด้วยคุณภาพมากกว่าราคา และคุณภาพของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะไม่ถูกดิสรัปต์จากจีน หนึ่งในผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ที่มักทำสินค้าถูกกว่า

 

“สูงวัย” ดันตลาดเสริมอาหาร 1.9 แสนล้านโตแรง แนะรัฐหนุนไทยแข่งขันบนเวทีโลก

โดยภาพรวมการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของแต่ละประเทศ จะมีความนิยมต่างกัน ยกตัวอย่างตลาดใหญ่ของโลกอย่างอเมริกาจะนิยมเฉพาะวิตามินและกินเสริมอาหารกันอย่างแพร่หลาย ในเอเชียที่โดดเด่นคือญี่ปุ่น มีความหลากหลายทั้งคุณภาพและการแข่งขัน ส่วนประเทศไทยถือว่ายังเทียบไม่ได้ แต่ก็มีโรงงานเข้ามาตั้งฐานการผลิตแล้วส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ไม่น้อยทีเดียว

“อุตสาหกรรมเสริมอาหารในตอนนี้เรียกได้ว่าเป็น “ขาขึ้น” เกือบอยู่ใน Red Ocean ที่การแข่งขันสูงมาก และยังสามารถจั๊มป์ตลาดขึ้นไปได้อีก โดยเฉพาะตลาดในประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในอนาคตถูกเรียกได้ว่าเป็นบ้านพักคนชราโลก ที่ไม่ได้มีแค่ผู้สูงอายุคนไทยภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุจากต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาพำนักอยู่ด้วย และสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการคือสารอาหารที่ย่อยง่าย ดื่มง่าย กินง่าย รวมทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหารด้วย”

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยในทุกโรงงานรวมทั้งโรงงานที่รับจ้างผลิตกลับประสบปัญหา การนำเข้าสารสกัดมาประกอบผลิตภัณฑ์ ทำให้ต้นทุนสูง การ OEM สินค้าให้ลูกค้ารายใหญ่จะคุ้มค่า ส่วนรายเล็กคุณภาพอาจลดหลั่นลงมา ฉะนั้น จะต้องมีเทคนิคการผลิตที่ยังคงคุณภาพได้ด้วยมาตรฐานเดียวกันให้ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือกับลูกค้าทั้งในประเทศและในต่างประเทศด้วย

นายนาคาญ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีวัตถุดิบต้นน้ำในการผลิตจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักถูกนำไปสกัดในต่างประเทศแล้วถูกนำกลับมาขายต่อในราคาที่ค่อนข้างสูง หากได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง แยกสกัดวัตถุดิบได้ในประเทศไทย จะทำให้อุสาหกรรมเสริมอาหารไทยพัฒนาและเติบโตได้หลากหลายรูปแบบ

อีกทั้งผู้ประกอบการไทยยังสามารถผลักดันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถใช้ในรูปของอาหารทั่วไปได้ โดยใช้การแปรรูปและเน้นปริมาณที่ใช้ในชีวิตประจำวัน กินเพื่อเสริมกับอาหารทั่วไป ยกตัวอย่าง ผำ พืชโปรตีสูงของไทย สามารถนำไปเข้ากระบวนการอบแห้งใช้เป็นผงโรยข้าวได้, พีชปาล์ม ที่มีรสชาติคล้ายเกาลัด ก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นโปรตีนแบบตักได้เช่นกัน

 

“สูงวัย” ดันตลาดเสริมอาหาร 1.9 แสนล้านโตแรง แนะรัฐหนุนไทยแข่งขันบนเวทีโลก

 

“ถ้าสินค้าที่ใช้ในรูปอาหารทั่วไปได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค ก็จะใช้วัตถุดิบเฉพาะอย่างอื่นที่มีอยู่ในประเทศไทยได้มากขึ้น แต่หากไม่แก้ใขจุดนี้ ในอนาคตสินค้าและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไทยจะเป็นแค่ทางผ่านอย่างเดียว แต่ถึงจะมีโรงสกัดสารที่ทำได้ดี ถ้าการปลูกหรือการผลิตวัตถุดิบไม่เพียงพอและไม่ได้มาตรฐานก็กำหนดคุณภาพไม่ได้อยู่ดี หน่วยงานอย่าง อว. หรือ สวทช. และภาครัฐ จะต้องแชร์ข้อมูลและทำงานร่วมกันให้เข้าถึงคนไทยมาขึ้น เพราะจะเป็นส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากวัตถุดิบของไทยไปได้ไกลกว่าเดิม ไม่อย่างนั้นผู้ประกอบการไทยจะเสียเปรียบ และพัฒนาไม่ทันผู้ประกอบการจากต่างประเทศ”

นอกจากนี้ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางตัวยังมีปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาต เพราะหากถูกระบุเป็นอาหารแล้วจะไม่สามารถขอใบอนุญาติเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ทั้งที่ผลิตภัณฑ์บางตัวที่กินได้หลากหลายขึ้นอยู่กับปริมาณ อาจจะต้องปรับเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ในเรื่องนี้ เพราะหากมีหลักฐานยืนยันเรื่องความปลอดภัยควรได้รับอนุญาตเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ตลาดอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมักจะมีสารที่ได้รับความนิยมเป็นช่วงๆ ตามเทรนด์ โดยมีข้อระวังอย่างยิ่งคือ กินเฉพาะที่ร่างกายจำเป็นซึ่งจะต้องเรียนรู้และศึกษาให้มาก เพราะบางอย่าร่างกายก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นยา สมุนไพร อาหารเสริม หากกินในปริมาณมากเกินไปจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แม้จะมีหน่วยงานดูแลเรื่องมาตรฐานอาหารและยากำกับดูแลอยู่ก็ตาม