นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) กล่าวว่า นับตั้งแต่โรงพยาบาลเมดพาร์คเปิดให้บริการ ได้ดำเนินงานมาจนครบรอบ 4 ปีแล้ว และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีแรกประสบผลสำเร็จเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จากการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนตอนเกิดโควิด-19 ระบาด ก่อนทยอยเปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
ด้วยแนวทางการรักษาแบบลำดับความสำคัญ (Priority) เน้นการทำงานของบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ และตอนนี้ก็พร้อมเดินหน้าก้าวสู่ปีที่ 5 โดยตั้งเป้ารายได้ในสิ้นปี 2567 ไว้ประมาณ 4,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน ฐานลูกค้าคนไข้โรงพยาบาลเมดพาร์คในระบบมีอยู่มากกว่า 1 แสนราย ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ คิดเป็นสัดส่วนคนไทยราว 70% ส่วนต่างชาติประมาณ 30% จากกลุ่มที่ทำงานหรือพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย (Expat) และกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้ง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)
“ในปีที่ผ่านมาเราเริ่มเปิดรับคนไข้อย่างเต็มตัว โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคยากซับซ้อน จากกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มโรคที่รักษาไม่หายมาจากที่อื่น และกลุ่มฉุกเฉิน ซึ่งตอนนี้เรายังได้เริ่มการรักษาโรคยากด้วยการเปลี่ยนอวัยวะมากขึ้นโดยมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการจากโรงเรียนแพทย์ เช่น การเปลี่ยนไต เปลี่ยนถ่ายไขกระดูกรักษามะเร็ง รวมทั้งการ MOA (Memorandum of Agreement) ร่วมกับ สถาบันโลหิตวิทยาและโรงพยาบาลโรคเลือด สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งชาติ และวิทยาลัยการแพทย์สหภาพปักกิ่ง (Institute of Hematology & Blood Diseases Hospital, Chinese Academy of Medical Sciences & Peking Union Medical College) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยร่วมกัน”
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านจีโนมิกส์จากจีนและพาร์ทเนอร์คนไทย ลงทุนเพิ่มด้วยงบประมาณราว 40 ล้านบาท เปิดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Medical Genomics Laboratory) ที่ใช้วิเคราะห์ผลโรค วิเคราะห์ DNA และการแพ้ยาต่าง ๆ เพิ่มอีก เพราะหลายครั้งการวิเคราะห์เหล่านี้ต้องส่งไปตรวจในต่างประเทศจนเกิดความล่าช้านานถึง 6 สัปดาห์
ฉะนั้น การเปิดศูนย์จีโนมเองจะช่วยวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้นถึง 2 สัปดาห์ โดยในอนาคตสามารถลงนามความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยในอเมริกาเข้ามาเสริมการทำงานด้วย คาดการณ์ไว้ว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2568 นี้
นายแพทย์พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า สำหรับแผนงานของโรงพยาบาลเมดพาร์ค จะมุ่งหน้าไปยังการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความต้องการเฉพาะทาง สำหรับโรครักษายากและซับซ้อนมากขึ้น ตามเทรนด์การรักษาและความต้องการของผู้ป่วยในปัจจุบัน ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ประจำ (Fulltime) ประมาณ 150 คน และแพทย์ไม่ประจำการ (Parttime) อีกประมาณ 1,000 คน รวมทั้งบุคลากรด้านอื่นกว่า 800 คน ตลอดจนเสริมเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์การให้บริการมากขึ้น
“เรามีบุคลากร พนักงาน ที่มาทำงานร่วมกันทั้งคนไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากจีน ฟิลิปินส์ และอื่น ๆ มีความหลากหลายมาก สิ่งที่เราจะทำคือวางระบบการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และรณรงค์สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เหมือนกันภายใต้แบรนด์โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยเฉพาะแผนที่จะมุ่งไปยังการรักษาโรคยากและซับซ้อน ตลอดจนพยายามเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น เพื่อรองรับผู้ใช้บริการในอนาคต”