ทพญ.สุชาวดี สัมฤทธิวณิชชา กรรมการบริษัท โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า โรงพยาบาลยันฮีทำธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ 2 ส่วนคือ 1.การศัลยกรรมและความงาม 60% และ 2.การรักษาโรคทั่วไปอีก 40% โดยวางเป้าหมายไว้ว่าจะก้าวไปสู่การเติบโตด้านรายได้ 4-5% ภายใน 3 ปี
ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยถือได้ว่าแข่งขันกันสูงและค่อนข้างเติบโตสูงเช่นเดียวกัน มีคลิกนิกและโรงพยาบาลเกี่ยวกับความงามประมาณ 4,000 แห่งทั่วประเทศ ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้หลากหลายระดับ ในปัจจุบันตลาดเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี รวมมูลค่าอยู่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
สำหรับโรงพยาบาลยันฮี คาดว่ารายได้ในปี 2567 จะยังทรงตัวประมาณ 2,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 หากเติบโตขึ้นปกติน่าจะประมาณ 1-2% ด้วยจุดแข็งคือการเป็นโรงพยาบาลเพื่อความงามด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปี มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สามารถให้บริการได้ด้วยมาตรฐานสากล และตั้งเป้าไว้ว่าอยากเป็น Top of mind ติด 1 ใน 3 ที่อยู่ในใจของลูกค้า
พร้อมนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยให้ผู้เข้ารับบริการเข้าถึงการรักษา เช่น การทำเลเซอร์ การทำผิว หรือเกี่ยวกับเวลเนส การใช้วิตามิน การชะลอวัยก่อนสู่วัยสูงอายุ การป้องกันโรคตามเทรนด์ในตลาดสุขภาพยุคปัจจุบัน
โรงพยาบาลยันฮีมีแพทย์และบุคคลากรรวมประมาณ 2,000 คน ผู้เข้ามารับบริการเฉลี่ย 1,000 คน/วัน จากความจุที่สามารถรับได้ 3,000 คน/วัน หากนับสถิติในช่วงก่อนโควิด-19 จะแบ่งเป็นคนไทยประมาณ 70% คนต่างชาติ 30% ในอนาคตคาดหวังไว้ว่าอยากเพิ่มสัดส่วนคนต่างชาติให้ได้ 40-50% ด้วยการเข้าไปเปิดตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)
เบื้องต้นเข้าไปโรดโชว์ในประเทศกัมพูชา ทั้งเตรียมบุกตลาดต่างชาติมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้จุดเด่นทางด้านการแพทย์ของประเทศไทย และความสามารถของแพทย์ไทย ที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญ แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วยหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
“ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติเรามีล่ามถึง 12 ภาษาที่จะรองรับผู้มาใช้บริการ ทำการตลาดเชื่อมโยงกับเอเจนซี่ ลูกค้าหลักจากต่างประเทศในตอนนี้จะเป็นจีนและ UAE ถัดมาคือ เกาหลี ญี่ปุ่น เรามีบุคลากรเพียงพอที่จะดูแลผู้เข้ามาใช้บริการทุกคน และตอนนี้มีกลยุทธ์ที่จะเข้าถึงการให้บริการกลุ่มคนข้ามเพศมากยิ่งขึ้น ด้วยศักยภาพที่ค่อนข้างพร้อม ไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดแปลงเพศ การเทคฮอร์โมน ตัด-เสริมหน้าอก เปลี่ยนเสียง ตัดมดลูก รวมทั้งการแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย และจากชายเป็นหญิง”
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถเปิดรับกลุ่มคนข้ามเพศมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการมากยิ่งขึ้น และโรงพยาบาลยันฮียังได้ผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงเฉลี่ย 80 รายต่อปี ส่วนแปลงเพศหญิงเป็นชายจะมากกว่าในรูปแบบหลายเสต็ป โดยเฉพาะการตัดหน้าอกมีอยู่นับร้อยรายต่อปี
ทพญ.สุชาวดี กล่าวว่า ความนิยมสูงสุดของผู้เข้ามารับบริการด้านความงามของโรงพยาบาลยันฮีในปัจจุบันคือ การเสริมจมูก ทำหน้าอก ดูดตัดไขมัน และทำตา ในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่จะเริ่มทำตา ทำจมูก หัตถการเล็กๆ ถัดมาในกลุ่มที่อายุมากขึ้นจะดึงหน้า ดูดตัดไขมัน ยกกระชับและปรับโครงสร้างใบหน้า
“เราเน้นการบริการให้เกิด Brand Loyalty เพื่อให้ลูกค้ากลับมารับบริการซ้ำ รวมถึงทำความร่วมมือ MOU กับโรงเรียนแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากร ทั้งยังพยายามทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทุกช่องทาง ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แม้เศรษฐกิจจะไม่ดีนัก แต่คนก็ยังให้ความสนใจกับรูปลักษณ์อยู่ และในปี 2568 เราจะเน้นไปที่ตลาดศัยดรรมมากขึ้น รวมถึงการแปลงเพศ การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับทำฟัน รองรับแพทยและบุคคลากรเพิ่มขึ้น รวมถึงวางแผนจะเปิดศูนย์ผู้ดูแลสูงอายุ 400 เตียงในอีก 5 ปี”
ด้านกลุ่มธุรกิจ Non-Hospital มาจากบริษัทในเครือ คือ บริษัทยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จํากัด ผลิตน้ำดื่มและวิตามิน และบริษัทยาอินไทย จำกัด ทำการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม ภายใต้แบรนด์ “ยันฮี” มีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินอยู่ในอันดับต้นๆ จากตลาดรวมเครื่องดื่ม-วิตามินที่มีมูลค่ากว่า 5,500 ล้านบาท แต่สัดส่วนรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลและในเครือหลักๆ จะยังคงเป็นส่วนของโรงพยาบาลกว่า 65 % ถัดมาคือจากบริษัมยาอินไทย 20 % และบริษัทวิตามิน วอเตอร์ 15% ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ในปลายปีนี้
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยันฮีได้จัดงานฉลองครบรอบ 40 ปี ภายใต้แนวคิด “40 ปี ดูแลคุณด้วยใจ ครบจบที่ยันฮี” จัดโครงการ เพื่อสังคม “ผ่าตัดรักษาต้อเนื้อฟรี 20 ราย” ให้กับผู้ด้อยโอกาสเพื่อตอบแทนสังคม ด้วยเงื่อนไขสำหรับบุคคลที่มีรายได้น้อยกว่า 3 แสนบาทต่อปี อายุ 30 ปีขึ้นไป มีภาวะที่เป็นต่อเนื้อมากพอสมควรสำหรับการผ่าตัดเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ โดยทีมจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการ ด้วยงบประมาณกว่า 1 ล้านบาท ครอบคลุมค่าใช้จ่ายตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การผ่าตัด การพักฟื้น ไปจนถึงการติดตามผลการรักษา จนหายเป็นปกติ
"40 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลยันฮียังคงรักษาความเป็นผู้นำด้วยกลยุทธ์การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการลงทุนในเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย การพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และการขยายขอบเขตการให้บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยทุกกลุ่ม และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไป เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ของไทยสู่ระดับสากล" ทพญ.สุชาวดี กล่าวปิดท้าย