ลอยกระทง 2567 มากกว่าประเพณี คือ การเยียวยาจิตใจคนไทย

12 พ.ย. 2567 | 11:00 น.

กรมสุขภาพจิต เชิญชวนลอยกระทง 2567 ร่วมปล่อยความทุกข์ความเศร้า สร้างสุขภาวะทางใจให้คนไทย พร้อมแนะ 4 วิธีเข้าร่วมประเพณีลอยกระทงสุขใจ สืบสานประเพณีไทย สร้างสายใยในครอบครัว 

12 พฤศจิกายน 2567 กรมสุขภาพจิต เผยการลอยกระทงเป็นเหมือนการสละความทุกข์ ความเศร้า ความผิดหวังและความสูญเสีย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการปล่อยวาง และการเริ่มต้นใหม่ พร้อมเชิญชวนการร่วมประเพณีอย่างปลอดภัย ไม่เข้าพื้นที่แออัด หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่ออันตรายบางอย่าง เช่น พลุ หรือการพลัดตกน้ำในสถานที่จัดงาน

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การลอยกระทงเป็นประเพณีไทยที่มีรากฐานมาจากความเชื่อและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน มีจุดมุ่งหมายในการขอขมาต่อแม่น้ำคงคาและธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่มาแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง

ปัจจุบันประเพณีลอยกระทงยังได้รับการสืบสานจากคนไทยทุกภาค เป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งการบูชาและพิธีกรรมที่ช่วยให้ปล่อยวางความทุกข์และความเศร้าที่ตกค้างอยู่ในจิตใจ 

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

การลอยกระทง มีความหมายแฝงเกี่ยวกับการขอขมาน้ำเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกผิดหรือการผ่อนคลายอารมณ์เชิงลบออกไป ในความเชื่อที่ถูกสืบทอดมานั้นเชื่อว่า การลอยกระทง เป็นการสละทิ้ง "สิ่งไม่ดี" หรือ "พลังงานเชิงลบ" ให้ไหลไปกับสายน้ำซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมพิธีรู้สึกถึงการปลดปล่อยและการเริ่มต้นใหม่

หลายคนที่เข้าร่วมลอยกระทง มักจะมองว่า กระทงเป็นสิ่งที่แทนตัวเอง หรือ ความรู้สึกในช่วงเวลานั้น ๆ การลอยกระทงจึงเป็นเหมือนการสละความทุกข์ ความเศร้า หรือแม้กระทั่งความผิดหวังและความสูญเสีย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการปล่อยวาง และการเริ่มต้นใหม่

นอกจากนี้ การตั้งจิตอธิษฐานก่อนลอยกระทงยังเป็นการสะท้อนการสร้างแรงบันดาลใจและการตั้งเป้าหมายในชีวิต พิธีการลอยกระทงที่ทำร่วมกันในชุมชนยังสร้างความรู้สึกของการสนับสนุนและการเชื่อมโยงทางใจระหว่างผู้คน

ลอยกระทง 2567 มากกว่าประเพณี คือ การเยียวยาจิตใจคนไทย

การได้เห็นกระทงของตนลอยไปพร้อมกับกระทงของผู้อื่นนั้นช่วยเสริมความรู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวในการเผชิญความทุกข์ การมีคนรอบข้างที่เข้าใจและสนับสนุนช่วยให้จิตใจรู้สึกอบอุ่น เป็นกำลังใจให้กับการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากได้

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ในยุคสมัยปัจจุบันการเผชิญกับความเครียด ความเศร้า และความทุกข์จากหลาย ๆ ด้าน การปล่อยวางและการเริ่มต้นใหม่จากการลอยกระทงมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การฝึกปล่อยวางสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จะช่วยทำให้เรามีความสุขและสงบสุขทางใจมากขึ้น

การไปลอยกระทงเพื่อความสุขใจ การเข้าร่วมประเพณีอย่างปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการเฉลิมฉลองนี้มักมีผู้คนจำนวนมากและกิจกรรมที่เสี่ยงต่ออันตรายบางอย่าง เช่น น้ำ และไฟ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยแนวทางในการเตรียมตัวไปลอยกระทงด้วยความปลอดภัย ประกอบด้วย 

1. วางแผนการเดินทางและตรวจสอบสถานที่ลอยกระทง

เลือกสถานที่ที่มีการจัดงานอย่างเป็นทางการและมีการดูแลความปลอดภัย เช่น มีเจ้าหน้าที่และจุดรักษาความปลอดภัย ตรวจสอบเส้นทางการเดินทางล่วงหน้า โดยเฉพาะหากใช้บริการขนส่งสาธารณะ 

2. ดูแลตัวเองและของมีค่า

พยายามไม่นำของมีค่าไปด้วย และเก็บสิ่งของสำคัญไว้ในที่ที่ปลอดภัย เช่น เก็บโทรศัพท์และกระเป๋าสตางค์ ในกระเป๋าแบบมีซิป ระวังคนแปลกหน้า และอย่าปล่อยให้ของมีค่าอยู่ห่างตัว 

3. คำนึงถึงความปลอดภัยในการลอยกระทงในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่แนะนำ

หลีกเลี่ยงจุดที่แน่นเกิน จุดที่มีน้ำลึก น้ำไหลแรง หรือมีการจุดประทัด พลุ จำนวนมาก หากพาเด็กไปด้วยต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ห้ามให้เด็กเข้าใกล้สิ่งอันตรายโดยลำพัง 

4. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากต้องขับขี่ยานพาหนะ

กรมสุขภาพจิต ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมการสืบสานประเพณีลอยกระทงในปีนี้ด้วยความระมัดระวัง และไม่ประมาทเพื่อจะช่วยให้ทุกคนสนุก และปลอดภัยจากอุบัติเหตุหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย