นายกระทิง พูนผล ประธานกองทุน Disrupt Health Impact Fund กองทุน 500 TukTuks และ ORZON Ventures กล่าวว่า มูลค่าเศรษฐกิจโลกในปี 2586 คาดการณ์จะเติบโตถึง 100 ล้านล้าน ($100 trillion) เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,379 ล้านล้านบาท โดยมี Healthcare เป็นหนึ่งใน 3 ตัวขับเคลื่อนหลัก จากสังคมสูงวัยและแนวโน้มอายุขัยเฉลี่ยพลเมืองโลกที่มีอายุยืนขึ้น ผนวกกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก และนำไปสู่การพลิกโฉมทางการแพทย์
นอกจากนี้ ตลาดการดูแลตัวเอง หรือ Self-care เป็นตลาดต้องจับตามอง ทั้งจากการผลักดันแนวคิดการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า หรือ Value - Based Health Care ของหน่วยงานภาครัฐทั่วโลก กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาด Self-care medical device ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเติบโตจาก 24.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ($24.4 Billion) หรือประมาณ 825 พันล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มเป็น 42.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ($42.6 Billion) หรือประมาณ 1,440 พันล้านบาท ในปี 2575
ล่าสุด Disrupt ได้ประกาศความสำเร็จการเข้าลงทุนในบริษัท “DiaMonTech” สตาร์ทอัพ DeepTech สัญชาติเยอรมัน ผู้คิดค้นและเป็นเจ้าของหลายสิทธิบัตรนวัตกรรมการตรวจวัดระดับกลูโคสในร่างกาย โดยไม่ต้องเจาะเลือด เป็นการลงทุนที่จะสร้างโอกาส สร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ เพราะการตรวจวัดค่าน้ำตาลเป็นปัญหาสำคัญ เป็นที่ต้องการมากในตลาด และมีมูลค่าตลาดรวมขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยและกลุ่มคนทั่วไป ที่สำคัญคือเป็นโซลูชันที่สามารถขยายไปได้ทั่วโลก
นางสาวจันทนารักษ์ ถือแก้ว กรรมการผู้จัดการ ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ หรือ Disrupt และผู้บริหารกองทุน Disrupt Health Impact Fund กล่าวว่า การลงทุนกับ “DiaMonTech” เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานกว่า 530 ล้านรายทั่วโลก เพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ใช้เวลานานในการรักษา และอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
ขณะที่ประเทศไทยมีผู้เป็นเบาหวานมากถึง 5.2 ล้านคน หรือ 1 ใน 11 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เชื่อว่าเทคโนโลยีของ DiaMonTech จะช่วยให้การ self-care เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น และยังได้ข้อมูลที่จะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามอาการได้ดีขึ้น สร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างมากต่อชีวิตผู้คน ทั้งกลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มคนทั่วไปในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นเบาหวาน
นางสาวณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้บริหารกองทุน Disrupt Health Impact Fund กล่าวว่า ทางกองทุน Disrupt Health Impact Fund จะเฟ้นหาสตาร์ทอัพทั่วโลกมากกว่า 1,000 ราย และคัดเลือกเพียง 97 รายที่ตรงกับเกณฑ์ ก่อนคัดกรองเหลือเพียง 49 รายและนำไปวิเคราะห์ศึกษาข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการลงทุน และมี DiaMonTech เพียงรายเดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนมากของทั้งผู้บริหารกองทุน ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากทางเครือโรงพยาบาลสมิติเวช และคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์และวิศวกรรมจากทางมหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับเหตุผลหลักที่เลือกลงทุนกับ DiaMonTech เพราะเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและเลียนแบบยาก เจ้าของสิทธิบัตรพัฒนามาจากงานวิจัยกว่า 10 ปีของศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกอเธ่ และจากการศึกษาตลาดเครื่องวัดกลูโคสทั่วโลกพบว่า หลายบริษัทได้พยายามคิดค้นวิธีการวัดระดับกลูโคสในร่างกายแบบไม่ต้องเจาะเลือด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี แต่ความท้าทายหลักคือการตรวจวัดที่แม่นยำเทียบเท่ากับการเจาะเลือด”
นางสาวณรัณภัสสร์ กล่าวว่า วิธีการของ DiaMonTech มีความน่าเชื่อถือเพราะเป็นการวิจัยแบบการศึกษาไปข้างหน้า หรือ prospective study และผลวิจับยังได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับโลกอีกด้วย ทำให้เรามั่นใจว่าการสนับสนุน DiaMonTech จะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และเป็นการลงทุนที่มีโอกาสเติบโตสูง
ด้าน นายธอร์สเทน ลูบินสกี ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร DiaMonTech กล่าวว่า เครื่องวัดระดับกลูโคสในร่างกายโดยไม่ต้องเจาะเลือด หรือ D-pocket ขณะนี้กำลังอยู่ช่วงขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ก่อนนำออกสู่ตลาด การได้รับเงินลงทุนและความร่วมมือจากกองทุน Disrupt Health Impact Fund
ทั้งนี้ เป็นโอกาสและจังหวะที่ดีมากสำหรับ DiaMonTech ในการขยายและเชื่อมต่อโอกาสในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และกลุ่มผู้ที่ต้องการดูแลระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศไทย เพราะทางกองทุนไม่เพียงแต่ให้เงินลงทุน แต่ยังมีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Healthcare ทั้งจากภาครัฐและเอกชนในไทยและในภูมิภาค รวมทั้งแพลตฟอร์มระบบนิเวศของ Disrupt ซึ่งจะช่วยให้ DiaMonTech สามารถนำนวัตกรรมดังกล่าวเข้าไปถึงผู้คนได้มากขึ้นและเร็วขึ้น
ขณะที่กองทุน Disrupt Health Impact Fund มีเป้าหมายลงทุนระยะแรกราว 17 – 50 ล้านบาทต่อ 1 บริษัท โดยในช่วง 3 – 5 ปีจากนี้ มีแผนลงทุนใน 15 บริษัท DeepTech ด้าน Healthcare ทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยนโยบายลงทุน 5 ด้าน คือ การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง (Self Care) เวชศาสตร์ป้องกันโรค (Preventive Care) ผู้สูงวัย (Silver Age) การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Wellness) และ โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โดยเฟ้นหานวัตกรรมระดับโลกในระยะออกสู่ตลาดแล้ว (Commercialized) หรืออยู่ระหว่างการวิจัยในคน (Clinical Trial) เพื่อขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ในด้านของนักลงทุน
ปัจจุบันกองทุนมีนักลงทุนรวม 7 ราย เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 รายซึ่งเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่สนใจธุรกิจ Health & Wellness ที่ต้องการร่วมกันต่อยอดโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มโอกาสในการลงทุนตรงในบริษัทที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ กองทุนยังคงเปิดรับพันธมิตรที่สนใจร่วมลงทุนในกองทุน รวมทั้งยังคงมองหาและพิจารณาบริษัท DeepTech ด้าน Healthcare เพื่อเข้าร่วมลงทุน