"สังคมสูงวัย-ขาดแรงงาน" ฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจไทย

23 ก.ย. 2567 | 02:41 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2567 | 02:41 น.

"สังคมสูงวัย-ขาดแรงงาน" ฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจไทย อนุสรณ์เสนอรัฐศึกษาความเป็นไปได้ของการพิจารณานโยบายนิรโทษกรรมการให้สิทธิพลเมืองที่ยืดหยุ่นเพื่อเปลี่ยนสถานะความเป็นพลเมืองตามกฎหมาย

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สังคมชราภาพและขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาว มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านช่องทาง 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 

  • ช่องทางการออม 
  • ช่องทางการลงทุนและสะสมทุน 
  • ช่องทางผลิตภาพโดยรวม 
  • ช่องทางการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน 

ทั้งนี้ งานวิจัยของ Yung Chul Park and Kwanho Shin ระบุว่า ผลกระทบผ่านช่องทางต่างๆจะชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อประเทศเอเชียรวมทั้งที่เข้าสู่สังคมชราภาพขึ้นอยู่กับโครงสร้างประชากรของแต่ละประเทศ
 

อย่างไรก็ดี เสนอให้รัฐบาลศึกษาความเป็นไปได้ของการพิจารณานโยบายนิรโทษกรรมในเรื่องการให้สิทธิพลเมืองที่ยืดหยุ่นเพื่อเปลี่ยนสถานะความเป็นพลเมืองตามกฎหมายให้กับแรงงานต่างชาติที่ต้องการเป็นพลเมือง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ แรงงานทักษะสูง และแรงงานไทใหญ่ที่มีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ จะทำให้บรรดาแรงงานต่างชาติเหล่านี้เป็น พลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ความไม่สมดุลของตลาดแรงงานจะเป็นปัญหาท้าทายภาคการผลิตของไทยต่อไป เศรษฐกิจและภาคการผลิตบางส่วนต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะงานที่ใช้ทักษะต่ำ 

ขณะที่แรงงานไทยทักษะปานกลางและสูงจำนวนไม่น้อยเคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่ามาก ลักษณะการเคลื่อนย้ายแบบนี้ คือ แรงงานทักษะต่ำไหลเข้า แรงงานทักษะปานกลางและสูงจำนวนหนึ่งไหลออก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างตลาดแรงงาน ระบบค่าจ้าง 

และบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นระบบเศรษฐกิจการผลิตที่ใช้แรงงานทักษะสูง และผลิตสินค้ามูลค่าสูงด้วยนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง ยังติดกับดักโครงสร้างการผลิตและเศรษฐกิจแบบเดิม 

ส่วนมาตรการรับมือผลกระทบต้นทุนแรงงานต้องมุ่งเป้าไปที่เอสเอ็มอีในกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยรัฐบาลอาจมีมาตรการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิตให้หันมาใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะให้สูงขึ้น มาตรการปรับโครงสร้างราคาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เป็นธรรมมากขึ้น