จากกรณีที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ออกประกาศด่วน ปิดสถานศึกษาชั่วคราว หลังพบการระบาดของโรคไอกรนในพื้นที่โรงเรียน ซึ่งมีรายงานนับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมากกว่า 2 ราย
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบาย โรคไอกรน (Whooping Cough) ไว้ดังนี้
อาการของ โรคไอกรน
โรคไอกรน (Whooping Cough) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอที่มีลักษณะพิเศษ คือ ไอซ้อน ๆ ติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทันจึงหยุดไอและมีอาการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียง วู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ เป็นที่มาของชื่อเรียกว่า "โรคไอกรน" ซึ่งบางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน
สาเหตุโรคไอกรน
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นเชื้อที่เพาะขึ้นใน Bordet Gengau media ซึ่งเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วน nasopharynx ของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนมีอาการไอเป็นแบบ paroxysmal
ระบาดวิทยา
ไอกรน เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกราย โรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มาก
โรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก ทั้งนี้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูง ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีและเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกอายุ ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการ หรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน
ในประเทศไทยอุบัติการณ์ของโรคไอกรนลดลงมากซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มระดับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรนบาดทะยัก อย่างไรก็ดี ยังพบโรคนี้ได้ประปรายในชนบทและพบในเด็กอายุเกิน 5 ปีมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนพบการระบาดเป็นครั้งคราวในเด็กนักเรียนชั้นประถม ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดโรค
อาการและอาการแสดง
1. ระยะแรก
เด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดาอาจมีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้เรียกว่า Catarrhal stage จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้แต่มีข้อสังเกตว่า ไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้ง ๆ
2. Paroxysmal stage
ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุด ๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มีอาการไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้งตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง
ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพองการไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมาผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้
บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียวเพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือนจะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วยอาการหน้าเขียวอาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุด ๆ ระยะไอเป็นชุด ๆ นี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้
3) ระยะฟื้นตัว (Convalescent stage)
กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุด ๆ จะค่อย ๆ ลดลงทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้งแต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์
การป้องกันโรคไอกรน
การให้วัคซีนป้องกัน ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้งนับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรน วัคซีนไอกรนที่มีใช้ขณะนี้เป็นวัคซีนที่เตรียมจากแบคทีเรีย B. pertussis ที่ตายแล้ว (Whole cell vaccine) รวมกับ diphtheria และ tetanus toxoids (Triple vaccine, DTP) ให้ฉีดเข้ากล้าม
กำหนดการให้วัคซีนเริ่มเมื่ออายุ 2 เดือน และให้อีก 2 ครั้ง ระยะห่างกัน 2 เดือนคือ ให้เมื่ออายุ 4 และ 6 เดือน โด๊สที่ 4 ให้เมื่ออายุ 18 เดือน นับเป็นครบชุดแรก (Primary immunization) โด๊สที่ 5 ถือเป็นการกระตุ้น (booster dose) ให้เมื่ออายุ 4 ปี เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปี แล้วจะไม่ให้วัคซีนไอกรน ทั้งนี้ เพราะจะพบปฏิกิริยาข้างเคียงได้สูง
ที่มา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข