น้ำท่วมภาคใต้ 8 ข้อสั่งการ สาธารณสุข เฝ้าระวังผลกระทบ

29 พ.ย. 2567 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2567 | 04:20 น.

เกาะติดน้ำท่วมภาคใต้ ปลัดสธ. มอบ ผอ.กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ 5 จังหวัด ออก 8 ข้อสั่งการ รับมือผลกระทบ ย้ำป้องกันสถานพยาบาล หากปิดชั่วคราวให้จัดทีมแพทย์ จัดพาหนะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลรับส่งต่อ 

28 พฤศจิกายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เป็นประธานประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 34/2567 เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้

เบื้องต้นมีข้อสั่งการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพื้นที่ประสบภัย ดังนี้

1. ป้องกันและลดผลกระทบต่อสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่องกรณีมีการปิดสถานพยาบาลชั่วคราวให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือจุดบริการสำรอง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง 

2. ประชาสัมพันธ์และสื่อสารความเสี่ยงถึงประชาชนในการป้องกันภัยที่มาจากน้ำท่วม ได้แก่ การจมน้ำ ไฟดูด แมลงและสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  

3. เคลื่อนย้ายประชาชนกลุ่มเปราะบางที่บ้านพักมีแนวโน้มไม่สามารถพักอาศัยได้ ไปยังศูนย์อพยพหรือโรงพยาบาลที่มีความปลอดภัย โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 

4. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชเฝ้าระวังสถานการณ์โรค "เลปโตสไปโรชิส" หรือโรคฉี่หนู ในพื้นที่น้ำท่วมขังและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ตามพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

5. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ประสานขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลทุ่งยางแดง และกำหนดเกณฑ์อพอพเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในของโรงพยาบาลทุ่งยางแดง ไปยังโรงพยาบาลปัตตานี 

6. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เฝ้าระวังผลกระทบต่อโรงพยาบาลหาดใหญ่และโรงพยาบาลสงขลา โดยเฉพาะระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบสนับสนุนบริการทางการแพทย์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหารถยกสูง รวมถึงเรือเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยจากพื้นที่ประสบภัยไปยังโรงพยาบาลรับส่งต่อ 

น้ำท่วมภาคใต้ 8 ข้อสั่งการ สาธารณสุข เฝ้าระวังผลกระทบ

7. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีมีการเปิด-ปิดบริการของสถานพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และแจ้งให้ประชาชนรับทราบถึงการจัดบริการทดแทน 

8. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ประสานไปยัง อบจ. กรณีรพ.สต.ปิดให้บริการ 13 แห่ง เพื่อสื่อสารข้อมูลและประชาสัมพันธ์การเข้ารับบริการของประชาชนในพื้นที่

น้ำท่วมภาคใต้ 8 ข้อสั่งการ สาธารณสุข เฝ้าระวังผลกระทบ

นพ.สฤษดิ์เดช กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย รวมสะสม 3 ราย สาเหตุมาจากการจมน้ำ ผู้บาดเจ็บสะสม 3 ราย

สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบทั้งหมด 56 แห่ง ได้แก่ สงขลา 16 แห่ง ยะลา 10 แห่ง ปัตตานี 16 แห่ง และนราธิวาส 14 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาล 7 แห่ง เปิดให้บริการตามปกติ, รพ.สต. 46 แห่ง เปิดบริการ 6 แห่ง เปิดบางส่วน 7 แห่ง ปิดบริการ 33 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง เปิดบริการปกติ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 2 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง เปิดบางส่วน 1 แห่ง

หน่วยงานในพื้นที่ได้จัดทีมแพทย์ดูแลช่วยเหลือประชาชนรวม 2,011 ราย แบ่งเป็น ตรวจรักษา 149 ราย ให้สุขศึกษา 759 ราย เยี่ยมบ้าน 1,096 ราย ส่งต่อ 7 ราย จำนวนนี้เป็นกลุ่มเปราะบาง 128 ราย

เปิดศูนย์พักพิงแล้ว 33 แห่ง ได้แก่ ยะลา 15 แห่ง นราธิวาส 13 แห่ง และสงขลา 5 แห่ง สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์รวม 4,300 ชุด โดยส่วนกลางได้สนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการจำนวน 5,650 ชุด และยาน้ำกัดเท้า 1,600 หลอด