ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นาโนเทคเป็นองค์กรวิจัย ที่ตั้งมั่นใช้ประโยชน์นาโนเทคโนโลยีขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ภารกิจหนึ่งคือ การต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไทยด้านเครื่องมือแพทย์ที่มูลค่าตลาดสูง เพื่อเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคมขับเคลื่อนงานทางด้านชุดตรวจทางการแพทย์ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และชุดตรวจคัดกรองโรคไตเป็นหนึ่งใน S&T implementation for Sustainable Thailand นวัตกรรมชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid Test) ที่มีดร. เดือนเพ็ญ จาปรุง เป็น Driver โดยต่อยอดมากจากงานวิจัย ‘AL-Strip’ โดย ดร. สาธิตา ตปนียากร
สำหรับชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพ ทราบผลตรวจได้ภายใน 5 นาที มีราคาจับต้องได้ ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรอโรคด้วยตัวเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านร้านยาในโครงการ ด้วยการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังแบบครบวงจร โดยเภสัชกรเครือข่ายร้านยาในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศไทย นำร่องในพื้นที่ สปสช. เขต7 ขอนแก่น จำนวน 3,000 ชุด
ทันตแพทย์หญิงน้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายสนับสนุนบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในร้านยาสำหรับคนไทยทุกคน ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ไม่เฉพาะเพียงผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ซึ่งบริการดังกล่าวประกอบด้วย
ในปี 2567 สปสช. ได้เพิ่มนวัตกรรมชุดตรวจสุขภาพด้วยตนเองที่มีประสิทธิภาพเข้ามาเสริมในชุดสิทธิประโยชน์ ได้แก่ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ชุดเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเองเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะด้วยตนเอง โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการเหล่านี้ได้ที่ร้านยาที่มีสัญลักษณ์ “ร้านยาของฉันให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ สปสช. เล็งเห็นว่า การเพิ่มชุดตรวจสุขภาพด้วยตนเองถือเป็นก้าวสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน ช่วยส่งเสริมการตรวจพบและป้องกันโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขของประชาชน ตลอดจนเพิ่มผลลัพธ์ด้านสุขภาพโดยรวม สำหรับ “ชุดตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตนเอง” ถือเป็นนวัตกรรมบริการที่สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ ช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคไตเสื่อม
แต่ก่อนที่ สปสช. จะนำบริการด้านสุขภาพเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของคนไทย จะต้องผ่านกระบวนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA) อย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบด้านงบประมาณ ความสอดคล้องกับแนวทางเวชปฏิบัติ ความพร้อมของระบบบริการ รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมและสังคมด้วย
"สปสช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะนำนวัตกรรมด้านสุขภาพมาต่อยอด และยกระดับบริการทางด้านสาธารณสุขให้กับคนไทยทุกคน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน"
ภก. ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมสนับสนุนให้ร้านยาเป็นหน่วยปฐมภูมิของประเทศ เพราะมีความใกล้ชิดชุมชน ประชาชนเชื่อถือ และกระจายตัวทั่วประเทศประมาณ 17,000 ร้านยา การผลักดันการใช้ประโยชน์ “ชุดตรวจคัดกรองโรคไต” ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย เป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไต เพื่อนำมาพัฒนาระบบบริการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังแบบครบวงจร โดยเภสัชกรเครือข่ายร้านยา ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
อย่าไรก็ตาม เภสัชกรจะนำผลการตรวจคัดกรองมาสร้างการตระหนักรู้ในการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันและชะลอโรคไตแก่ประชาชน ผ่านโครงการ “การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเพื่อป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังแบบครบวงจร” โดยเภสัชกรเครือข่ายร้านยาในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะนี้ยังนโครงการวิจัยที่ดำเนินอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2568 และจะผลักดันเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพต่อไป