ขณะรักษาการผอ.อคส.รีบร้อนในการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างถุงมือยาง จนมีการสั่งเด้งให้ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์เข้ากรุไปนั่งทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ผลพวงกลายเป็นเผือกร้อนต้อนรับนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่ต้องเร่งสางปัญหา มีการตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนชุดของกระทรวงพาณิชย์ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และฝ่ายค้านได้หยิบยกเป็นประเด็นนำ สู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา
“จุรินทร์”สั่งฟันไล่ออก
ความคืบหน้าล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า การสอบสวนการทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่องมูลค่า 112,500 ล้านบาท อคส.ได้รายงานผลการสอบสวนทางวินัยที่มีนายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานชี้มูล 3 คน ประกอบด้วย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. และเจ้าหน้าที่บริหาร ระดับ 8 อีก 2 คน คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์ มีความผิดทางวินัยร้ายแรง มีบทลงโทษคือการไล่ออก ซึ่งจากนี้อคส.จะเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการองค์การคลังสินค้าหรือ บอร์ดอคส.ต่อไป
ส่วนกรณีการรับผิดทางละเมิดนั้นคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด ที่มีนายวันชัย วราวิทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน คาดจะมีผลพิจารณาออกมาเร็วๆ นี้ว่าใครจะต้องชดใช้ความเสียหายให้อคส. เท่าไรเบื้องต้นราว 2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย และค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ ทั้งนี้ได้สั่งการให้ดำเนินการใน เรื่องนี้อย่างถึงที่สุด และต้องติดตามเงินที่ อคส.เสียไป 2,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยมาให้ครบ
ย้อนรอยทุจริต
สำหรับไทม์ไลน์กระบวนการทุจริตจัดซื้อถุงมือยางในครั้งนี้ เริ่มจาก วันที่ 14 ก.ย. 63 ทันทีที่อคส.ตรวจสอบพบความเสียหายจากการอนุมัติให้มีการจัดซื้อถุง มือยางของพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ อคส.ได้ส่งเรื่องไปยังระดับบริหารของกระทรวง และวันเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ อคส.ดำเนินสอบสวนภายใน และในวันที่ 15 ก.ย. 63 มีการตั้งคณะกรรมการสอบทันที ต่อด้วยวันที่ 17 ก.ย. 63 ได้ระงับการซื้อขาย และเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 63 นายเกรียงศักดิ์ ได้เข้าแจ้งความต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และวันที่ 23 ก.ย. 63 ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบ
แฉกระบวนการทุจริต
ทั้งนี้กระบวนการเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 63 เมื่อนายเกียรติขจร แซ่ไต่ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย อคส. แจ้งกับที่ประชุมซึ่งมี พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ อคส. ว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 63 บริษัท เครเน็กซ์ ลอว์ ออฟฟิสจากสหรัฐอเมริกา มีหนังสือแสดงเจตจำนงซื้อถุงมือยาง จำนวน 500 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 230 บาท และ อคส.ได้เจรจาซื้อถุงมือยางจากบริษัท การ์เดียน โกลฟ์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ทั้งที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63 หรือก่อนทำสัญญาเพียง 2 เดือน
มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีนายธณรัสย์ หัดศรี เป็นกรรมการบริษัท ราคาเสนอขาย กล่องละ 225 บาท ทั้งนี้มีเงื่อนไขในสัญญา อคส.ต้องชำระเงินล่วงหน้า 2,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท การ์เดียน ต้องวางเงินประกัน 200 ล้าน บาท ทำให้เรื่องดังกล่าวมีเงินทอน ถึง 1,800 ล้านบาท มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเจรจาดังกล่าวไม่มีการสอบราคาและผิด ขั้นตอน นอกจากนี้ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ยังมีหนังสือตอบให้เร่งดำเนินการโดยด่วน นำสู่ความไม่โปร่งใสตั้งแต่แรกเริ่ม
7 บริษัทต้องการซื้อถุงมือยาง
สำหรับบริษัทที่ต้องการซื้อถุงมือยางในครั้งนี้ มี 7 บริษัทได้แก่ 1.บริษัทไทยสไมล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปผักและผลไม้ 2. บริษัทกาโลลี่ แมนเนจเม้นท์ สหรัฐอเมริกา 3.บริษัทเครเนค ลอว์ ออฟฟิส สหรัฐอเมริกา ข้อสังเกตของ 3 บริษัทนี้ เป็นสัญญาลวง ไม่มีสัญญาจริง 4.บริษัท ควีนพาวเวอร์ คอมปานี จำกัด ตรวจสอบที่ตั้งแล้วเป็นเพียงสำนักงานกฎหมาย 5. บริษัท ทเวนตี้โฟว์ คลีน เอ็นเนอร์จี้ 6.บริษัท เคเค ออยล์ จำกัด และ 7. บริษัท เอ แอเมทิสต์ จำกัด เมื่อรวม 7 บริษัทจะมียอดสั่งซื้อ 826 ล้านกล่อง มูลค่า 186,100 ล้านบาท เฉลี่ยราคาต่อกล่อง 225 บาท
3 รายมีสิทธิอุทธรณ์ใน60วัน
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการอคส. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง ขั้นตอนหลังจากนี้ว่า เนื่องจากผู้มีรายชื่อ 3 คนข้างต้นตรวจสอบพบมีความผิดทางวินัยร้ายแรงผอ.อคส จะต้องเป็นผู้ออกคำสั่งไล่ออก ดังนั้นเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมบอร์ดอคส.เพื่อพิจารณาก่อนจะออกคำสั่งไล่ออก ซึ่งทั้ง 3 คนจะหมดสภาพการเป็นพนักงาน อคส. ทันที
อย่างไรก็ตามกฎหมายได้เปิดช่องให้ทั้ง 3 คนสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อบอร์ด อคส. ได้หากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่ง อคส. จะตั้งคณะกรรมพิจารณาอุทธรณ์ โดยนายวิเชียร ชุบไธสง กรรมการบอร์ด เป็นประธานว่าจะรับพิจารณาหรือไม่รับ ซึ่งจะมีเวลาพิจารณา 60 วัน (แต่สามารถขยายเวลาได้) และหากทั้ง 3 รายเห็นว่า การอุทธรณ์ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถไปร้องศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้
ขณะที่ในส่วนของประธานบอร์ด อคส. ที่มีชื่อเกี่ยวพันด้วยนั้น สามารถเอาผิดเป็นในส่วนของการสอบละเมิด ซึ่งอคส. มีการตั้งคณะกรรมการสอบละเมิดอยู่ โดยขณะนี้ผลสอบยังไม่สรุป แต่หากผลสอบมีข้อสรุป ทางคณะกรรมการจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง และสำนักนายกรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาเรียกค่าเสียหายจากประธานบอร์ดและกรรมการ ฐานละเมิดให้เกิดความเสียหายของรัฐ ส่วนจะใช้เวลาเท่าไรนั้นอยู่ที่การพิจารณาของกระทรวงคลัง
เข้าข่ายทุจริตอีกเกือบ 10 คน
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพราะจากการสอบในเชิงลึก อคส. ยังพบว่ามีกลุ่มคนที่เข้าข่ายทุจริตเพิ่มเติม อีกเกือบ 10 คน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหาร ส่วนภาคเอกชนนั้นก็ไม่รอดเช่นกัน เพราะขณะนี้ ป.ป.ช. และปปง.อยู่ระหว่างชี้มูล ซึ่งเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท ที่อคส. เสียหายไปนั้น 2 หน่วยงานจะสืบในทางลึกว่าโยกย้ายไปที่ใดบ้าง และไปให้ใครบ้าง จะตามกลับมาชดใช้ให้หมด
งวดเข้ามาทุกขณะของคดีทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง ที่เวลานี้ได้เริ่มปรากฏโฉมหน้าของผู้ร่วมขบวนการที่เป็นเพียงแค่นํ้าจิ้ม ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนที่ยังอยู่ในเงามืดใกล้วันรอเฉลยว่ามีใครบ้าง คาดเร็วๆ นี้จะมีเซอร์ไพรส์ก่อนถึงตอนอวสานอย่างแน่นอน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3722 วันที่ 14-16 ตุลาคม 2564