ขายฝัน “ระบบตั๋วร่วม” ความหวังผู้ใช้ระบบรถไฟฟ้าที่ไปไม่ถึง

22 ต.ค. 2564 | 06:18 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2564 | 13:31 น.

ลุ้นอีกรอบ “กรมราง” เปิดแผนระบบตั๋วร่วม ดึงกรุงไทยทำระบบ EMV ชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเดบิต-เครดิต ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด นำร่องทดสอบรถไฟสายสีแดงเดือนพ.ย.นี้ คาดใช้ข้ามระบบรถไฟฟ้าร่วมกันช่วง ก.พ.65

ท่ามกลางประชาชนผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าMRTต่างเฝ้ารอที่จะใช้ระบบตั๋วร่วมที่สามารถใช้บริการข้ามระบบขนส่งมวลชนได้เพียงแค่ถือบัตรในใบเดียวเท่านั้น 

 

 

 

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เร่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบบตั๋วร่วมโดยเร็ว หวังจะให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งกระแสข่าวออกมาหลายครั้งหลายคราจะได้เห็นเดือนนั้นเดือนนี้ปีนั้น ปีนี้ แต่ก็มีสาเหตุที่ไม่สามารถใช้ได้ทันตามแผนที่วางไว้สักที ขณะที่ทั่วโลกนำไทยไปมาก อย่างเมืองใหญ่ๆในปารีส หรือนิวยอร์ก ที่ใช้ระบบตั๋วจ่ายราคาเท่าเดิมเพียงครั้งเดียวสามารถเดินไกลเท่าไรก็ได้ แต่ไทยยังใช้ระบบการคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงมาโดยตลอด

 

 

 

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2555 พบว่ากระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) เริ่มโครงการศึกษาการพัฒนาระบบตั๋วร่วม และในปี 2556-2558 มีการศึกษาวางแนวทางการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ขณะที่ในปี 2558-2560 มีการศึกษาระบบจัดทำศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ซึ่งดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นในปี 2561 สนข. ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอออก พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. จนลากยาวมาถึงปี 2564 ก็ยังอยู่ระหว่างเจรจาและเตรียมให้ประชาชนใช้บริการ แต่ยังไปไม่ถึงไหนเสียที

ในช่วงที่อภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ระบบตั๋วร่วมล่าช้า เนื่องจากมีผู้ประกอบการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลายราย ซึ่งในสัญญาสัมปทาน ไม่ได้ระบุให้มีการดำเนินการเรื่องระบบตั๋วร่วม ทำให้ต้องอาศัยการเจรจา ขณะนี้การเจรจาต่าง ๆ ได้ผลลุล่วงเป็นอย่างดี รวมทั้งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องระบบตั๋วร่วมอย่างชัดเจน ทำให้ไม่มีอำนาจไปบังคับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าให้เข้าร่วมใช้ระบบตั๋วร่วมได้

 

 

 

ล่าสุดนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ความคืบหน้าของการดำเนินการระบบตั๋วร่วมเพื่อใช้ในโครงข่ายคมนาคม ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำระบบวิธีการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือเดบิต ที่เรียกว่า Europay, Mastercard และ Visa หรือ EMV มาใช้ในการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง และเรือ โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องให้บริการประชาชนได้ภายในเดือน พ.ย.นี้

 

 

“ทางธนาคารกรุงไทยได้เข้ามาช่วยทำระบบให้ เป็นผู้ลงทุนและพัฒนาระบบ EMV ทั้งหมด เบื้องต้นการเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงในเดือนพ.ย.นี้ จะเริ่มนำร่องใช้บริการ EMV เป็นสายแรก พร้อมกับรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry”

 

 

นายพิเชฐ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมฯยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานทุกระบบขนส่งมวลชน เพื่อจัดทำโปรโมชั่นตั๋วร่วมแบบเป็นแพ็คเกจ อาทิ ซื้อแพ็คเกจเดินทางจำนวนมาก จะได้ส่วนลดคค่าโดยสารถูกลง 5-10% ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานเตรียมนำรูปแบบแพ็คเกจเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่ออนุมัติโปรโมชั่น และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้บัตรโดยสาร EMV สนับสนุนสังคมไร้เงินสด ภายในปี 2565 กระทรวงคมนาคมจะผลักดันให้ระบบขนส่งมวลชนทุกประเภทติดตั้งระบบชำระค่าโดยสารรองรับ EMV โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ซึ่งเบื้องต้นทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมระบบ คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ในเดือน ก.พ.2565 ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันทางเอกชนมีระบบชำระค่าบริการอยู่แล้ว อนาคตอาจจะมีการหารือร่วมกัน

 

 

 

“กรมฯได้กำชับว่าจะต้องไม่กระทบการให้บริการประชาชน เมื่อประชาชนต้องออกบัตรโดยสารใหม่ จะต้องไม่เก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และมูลค่าการเดินทางในบัตรต้องไม่เปลี่ยนแปลง ในกรณีที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะมีการเปลี่ยนผ่านให้เอกชนเข้ามาบริหารในวันที่ 25 ต.ค.นี้ เบื้องต้นทราบว่าเอกชนจะปรับปรุงบัตรโดยสารใหม่ ซึ่งได้หารือให้มีการพัฒนาระบบเพื่อรองรับบัตร EMV ให้การชำระค่าโดยสารด้วย คาดว่าการปรับปรุงบัตรโดยสารใหม่ของเอกชนที่จะเกิดขึ้น จะให้บริการประชาชนได้ภายในปลายปีนี้”

สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2565 กระทรวงคมนาคมยังมีเป้าหมายลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยผลักดันให้ รฟม.ออกบัตรรายเดือนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และม่วง รวมทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยบัตรโดยสารแบบรายเดือน จะกำหนดเป็น 1.บัตรรายเดือนจำนวน 20 เที่ยว ราคา 700 บาท ซึ่งจะเฉลี่ยค่าโดยสารอยู่ที่ 35 บาทต่อเที่ยว 2.บัตรรายเดือนจำนวน 30 เที่ยว ราคา 900 บาท เฉลี่ย 30 ต่อเที่ยว และ 3.บัตรรายเดือนจำนวน 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาทต่อเที่ยว

 

 

 

คงต้องจับตาดูว่าระบบตั๋วร่วมของไทยในครั้งนี้จะเปิดให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถใช้ได้จริงตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หรืออาจจะต้องรอเก้อ เพราะระบบตั๋วร่วมอาจเกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกครั้งเหมือนในช่วงที่ผ่านมา