เรารู้อะไรบ้าง เมื่อกทม.เสี่ยงน้ำท่วม-แผ่นดินทรุด

04 พ.ย. 2564 | 09:11 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 21:16 น.

ภาวะโลกร้อน ภัยเงียบที่กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่นายกฯ ได้ออกมาบอกว่า สถานการณ์โลกกำลังป่วย ไทยติดกลุ่มอันดับ 9 โดย กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วมแผ่นดินทรุด เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้

 “ท่านรู้หรือไม่ว่า หากปล่อยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเฉลี่ยทั่วโลก 1.1 เมตร ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักในเมืองต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงจากน้ำท่วมตามแนวชายฝั่งและการทรุดตัวของดิน มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ฝนแล้ง พายุรุนแรง ที่ส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนด้วย”

นี่คือสิ่งที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความลงบน “เพจประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

ที่แสดงความเห็นถึงการได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยได้ชี้ว่าสถานการณ์โลกกำลังป่วย ไทยติดกลุ่มอันดับ 9 โดย “กรุงเทพมหานครเสี่ยงน้ำท่วมแผ่นดินทรุด”

สะท้อนให้เห็นว่า การประชุม COP26 ในครั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อนานาประเทศ ว่าพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ นายกฯ ยังย้ำว่าในการประชุม ครม.ทุกครั้ง จะมีวาระสำคัญเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม ทั้งการติดตามเร่งรัดโครงการสืบเนื่อง และการนำเสนอโครงการใหม่ที่ป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคต

ไม่ใช่เเค่แผลเป็นที่ “วิกฤตโควิด” ทิ้งไว้กับประเทศไทยเท่านั้น แผลเป็นอีกอย่างที่เราไม่อาจปฎิเสธได้เลยก็คือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยเฉพาะ “ภาวะโลกร้อน”ที่เป็นภัยเงียบ หากไม่เร่งปรับตัวจะส่งผลใหญ่หลวงต่อไทยเป็นอย่างมาก

ในงานวิจัย “ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในบริบทโลกใหม่กับความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย” มีหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

โดยระบุว่า ระดับน้ำทะเลคาดการณ์ในปี 2050 จาก Climate Central แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดโดยรอบ

เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วม  ขณะที่จากการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมปี 2017 พบว่า ในบริเวณดังกล่าวครอบคลุมมากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งประเทศ มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสถานประกอบการ และมากกว่าร้อยละ 10 ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลัก

ถือเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวรับมือไว้ให้ทันท่วงที  เพราะไม่ใช่แค่มีผลกับ ภูมิอากาศ รูปแบบฤดูกาลที่เปลี่ยนไป แต่ยังส่งผลต่อหลายภาคเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะ “ภาคการเกษตร” ซึ่งจะนำมาสู่ “ความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทย” ที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น

"แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครประจำปี2564" ของสำนักการระบายน้ำ กทม. แบ่งสาเหตุน้ำท่วมที่พื้นที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญทุกปี มาจากปัจจัย ดังนี้

สาเหตุจากธรรมชาติ

  1. น้ำฝน ฤดูฝนของทุกปี เริ่มในเดือน พ.ค.-ต.ค. โดยมีปริมาณและความถี่สูงสุดช่วงกลางเดือน ส.ค.-ต.ค. และเป็นช่วงเดียวที่มีโอกาสการเกิด "พายุหมุนเขตร้อน" เคลื่อนเข้ามาในประเทศไทย โดยในปี 2564 ไทยได้รับพายุดีเปรสชัน "เตี้ยนหมู่" เข้ามาลูกล่าสุดในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเข้าท่วมในหลายจังหวัด
  2. น้ำทุ่ง หรือน้ำเพื่อการกสิกรรมที่มาจากด้านเหนือ และด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ จะไหลเข้าในพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมตามความลาดเอียงของระดับพื้นดิน ทำให้ความรุนแรงแต่ละปีขึ้นอยู่กับปริมาณ ระดับน้ำ และความลาดเอียงของระดับพื้นดินที่มาจากปัญหา "แผ่นดินทรุด" แต่ละจุด อาทิ ในพื้นที่ด้านตะวันออกของ กทม.เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักในปี 2525 2526 2538 2549 และ 2554 ระดับน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุด เดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี
  3. น้ำเหนือ  มวลน้ำที่มาจากฝนที่ตกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กระจายอยู่ตามทุ่งเพาะปลูกและพื้นที่ต่างๆ กว่า 160,000 ตารางกิโลเมตรโดยบางส่วนถูกเก็บกักในเขื่อนต่างๆ แต่ส่วนที่เหลือประมาณ 70 % จะไหลเข้ากรุงเทพฯ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ 7 เขต(ดุสิตพระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย คลองสาน) ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะเสี่ยงต่อระดับน้ำขึ้นสูงสุด ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี  เน้นไปที่ปัจจัยสำคัญของ "มวลน้ำเหนือ" ที่มาจากปริมาณน้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกรุงเทพฯในแต่ละปีนั้น หากมีค่าเฉลี่ยปริมาณน้อยจะมีมวลน้ำอยู่ที่ 1,000-2,000 ลบ.ม./วินาที แต่หากในปีน้ำเหนือมีปริมาณมาก จะมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 4,000-5,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งในปี 2554 มีปริมาณระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มากถึง 3,700 ลบ.ม./วินาที แต่ขนาดพื้นที่ "แม่น้ำเจ้าพระยา" ช่วงผ่านกรุงเทพฯ กลับรองรับปริมาณน้ำเหนือได้ประมาณ 2,500-3,000 ลบ.ม./วินาที
  4. น้ำทะเลหนุน  กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ภายใต้อิทธิพลการขึ้นและลงของน้ำทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลขึ้นและลงทุกครั้ง จะผลต่อแม่น้ำเจ้าพระยาให้ขึ้น-ลงตามกัน โดยในกรุงเทพฯ จะมีช่วงน้ำทะเลหนุน "สูงสุด" ในเดือน ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี
  5. ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา  "น้ำเหนือ" มีปริมาณมาก บวกกับ "น้ำทะเลหนุนสูง" ซึ่งมีช่วงเวลาสัมพันธ์กัน ในเดือนต.ค.-พ.ย. เป็น 2 ปัจจัยสำคัญให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงกว่าปกติมาก อาทิ ในปี 2526 2538 2539 2545 2549 2551 2553 และน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยเฉพาะ "สถิติระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา" ขึ้นสูงสุด จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บริเวณตอนเหนือที่คลองบางเขนและคลองบางซื่อ มีน้ำขึ้นสูงสุด 2.83 ม.รทก. บริเวณตอนกลางที่สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีน้ำสูงสุด 2.53 ม.รทก. และบริเวณตอนใต้ที่คลองพระโขนงและคลองบางนา มีน้ำสูงสุด 2.19 ม.รทก. ทำให้ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น กทม.ได้เสริมความสูง "แนวป้องกันน้ำท่วม" ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้น 20-50 เซนติเมตร
  6. สภาวะเปลี่ยนแปลงตามปรากฎการณ์ธรรมชาติ 3 ปัจจัย ตั้งแต่
  • ลานีญา ทำให้ปริมาณฝนสูงขึ้นกว่าปกติ
  • เอลนีโญ ทำให้มีปริมาณฝนในภาพรวมต่ำกว่าปกติ แต่อาจมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนเมือง
  • ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดน้ำหนุนสูงขึ้นกว่าข้อมูลที่หน่วยงานคาดการณ์ไว้

สาเหตุสภาพทางกายภาพ

  1. ปัญหาผังเมือง จากที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพฯ ในอดีตมีคลอง ดู บึง ห้วยที่ว่างรับน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้ทุกครั้งที่ฝนตก "ระบบรับน้ำธรรมชาติ" จะช่วยระบายน้ำจากถนนและบริเวณที่อยู่อาศัยออกไปที่ลุ่มข้างเคียง แต่จากการเติบโตของเมืองที่ไม่สิ้นสุด ทางระบายน้ำหลายแห่งถูกแทนที่ด้วยอาคารและพื้นที่คอนกรีต เมื่อมีปริมาณฝนที่ตกมาอย่างหนัก จึงไหลลงสู่คลองไม่ทัน
  2. ปัญหาแผ่นดินทรุด สำนักการระบายน้ำประเมินปัญหาที่น่าวิตกที่สุด เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบป้องกันน้ำท่วม และระบายน้ำที่ลงทุนไปแล้ว และเตรียมลงทุนอีกในอนาคตประสบความล้มเหลว หรือลดประสิทธิภาพได้ ตราบที่ยังไม่มีมาตรการหยุดยั้งหรือชะลออัตราการทรุดตัวได้อย่างรวดเร็ว  ขณะเดียวกันพื้นที่กายภาพของกรุงเทพฯ เป็นลักษณะแอ่งกะทะเนื่องจากแผ่นดินทรุด มีระดับความสูงต่ำของแต่ละเขตแตกต่างกัน โดยพบว่าถนนร่มเกล้า มีพื้นที่สูงถึง +1.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และถนนรามคำแหงมีพื้นที่สูงเพียง +0.30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ตามภาพ) ทำให้น้ำฝนไหลลงมาท่วมถนนและซอยที่ต่ำกว่า เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมบนถนนที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วม

ทั้งหมดคือ "ความเสี่ยง" น้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่มาจากสาเหตุธรรมชาติ และสาเหตุทางกายภาพ 

เเต่คำถามที่ตามมาคือ หากไทยกำลังเผชิญกับ "ภาวะโลกร้อน" หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอะไรกันอยู่บ้าง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเเละแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ถ้าไม่อยากให้ กทม.ต้องเผชิญ "ปัญหาน้ำท่วมเเผ่นดินทรุด" ตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้

ที่มา : สำนักการระบายน้ำ