“ก็น้ำทะเลหนุนจะให้ทำยังไง เรื่องนี้สั่งการไปแล้ว” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (ผอ.กอนช.) กล่าว
สวนทางกับเสียงสะท้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ไม่มีการแจ้งเตือน "น้ำทะเลหนุนสูง" จากกรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่ทันตั้งตัว
“กทม.ต้องขออภัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ล้นเข้าในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ กระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน และทำให้การจราจรในหลายพื้นที่มีปัญหา”
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) กล่าวขอโทษประชาชน
ภาพน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชน รวมไปถึงท่วมพื้นผิวถนน ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งในพื้นที่อำเภอเมือง ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ช่วงหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ยาวไปจนถึงเขตติดต่อกรุงเทพมหานคร ถนนรถรางสายเก่า ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ถนนสายลวด ถนนสุขุมวิทจากบางปูมุ่งหน้าคลองด่าน
ขณะที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่น้ำทะเลหนุนสูง จนทำให้เขื่อนกั้นน้ำใต้สะพานซังฮี้พังลง ส่งผลน้ำทะลักท่วมถนนสะพานกรุงธน ทำให้การจราจรสัญจรลำบาก น้ำทะลักเข้าท่วมชุมย่านสะพานซังฮี้หลายจุด ปรากฎการณ์ “น้ำทะเลหนุนสูง” เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ (8 พ.ย.) ที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนครั้งนี้ สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนที่ติดตามข่าวสารว่าจะเกิดกระแสน้ำท่วมใหญ่เท่ากับเมื่อปี 2554
เมืองชายฝั่งทั่วเอเชียกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่มากขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น โดยอ้างข้อมูลจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) ที่เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ระหว่าง 0.43-0.84 เมตรภายในปี พ.ศ.2643
ตลอดศตวรรษที่ 21 พายุมีความเร็วลมรุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น คลื่นพายุซัดฝั่งที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่มีสภาวะสุดขีดมากกว่าในอดีต
นี่คือสิ่งที่ “กรีนพีซ” ได้ตีพิมพ์รายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียภายในปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 (The Projected Economic Impact of Extreme Sea-Level Rise in Seven Asian Cities in 2030)
ที่สำคัญคือ "กรุงเทพมหานคร" อยู่ในนั้นด้วย
เพราะกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งใน 7 แห่งในเอเชียที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและตั้งอยู่บนชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่ง เพื่อวิเคราะห์ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากน้ำท่วมชายฝั่ง(coastal flooding) ในปี พ.ศ.2573 ตามภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปตามปกติ
สาระสำคัญที่ “ฐานเศรษฐฏิจ” จะหยิบยกจากส่วนหนึ่งของรายงานชุดนี้ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับ กรุงเทพฯ รายงานระบุว่า ภายในปี พ.ศ.2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบ 10 ปี
รวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง
ความเปราะบางของเมืองจากการเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น และเสี่ยงจมน้ำอันเนื่องมาจากดินอ่อน การขยายตัวของความเป็นเมือง และการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงอิทธิพลของน้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำทะเล
มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP 8.5 (เส้นตัวแทนความเข้มข้นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์)
โดย RCP 8.5 เป็นหนึ่งใน 4 ของภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบใหม่(Representative Concentration Pathway) หมายถึง สถานการณ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงโดยที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกช่วงปลายศตวรรษที่ 21 จะอยู่ระหว่าง 2.6-4.8 องศาเซลเซียส
“สัปปายะสภาสถาน” รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม
ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐและประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี พ.ศ.2573
ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 96% ของ GDP (มูลค่าดังกล่าวคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐโดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ หรือ purchasing power parity - PPP)
การวิเคราะห์นี้ใช้ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในสภาวะสุดขีด ข้อมูลประชากร และ GDP เพื่อคำนวณผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลของเมือง 7 แห่งในเอเชีย
โดยถือเป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดสูงในการระบุถึงพื้นที่ของเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
สอดคล้องกับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายก สภาวิศวกร โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กระบุว่า
กรุงเทพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเปรียบเป็น "กระทะคอนกรีต" ก้นลึกต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และยังต่ำกว่าระดับทะเลในหลายพื้นที่ หากไม่ทำอะไร ฝนตกมากก็ท่วม น้ำเหนือมาก็ท่วม น้ำทะเลหนุนสูง เจ้าพระยาก็ทะลัก
มีการคำนวนว่าในอีก 10 ปี ทั้งกรุงเทพอาจอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จากสภาวะโลกร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น ฝนก็ตกหนักขึ้น ยิ่งช่วงนี้ น้ำทะเลหนุนสูงสุดในเดือน ตค.-ธค. กทม.จะเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำหนุนซ้ำซากทุกปี
ทั้งการก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำเจ้าพระยายังไม่ครบ เป็นฟันหลอ มีรูรั่วหลายจุด เช่น ท่าเรือ และพื้นที่รุกล้ำ ทั้งกำแพงเขื่อนทรุดพัง รอการแก้ไข
ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้
ปัญหาน้ำทะเลหนุน รู้ล่วงหน้าได้ เพราะมีการพยากรณ์น้ำขึ้น-น้ำลงทุกวัน เมื่อพิจารณาร่วมประกอบกับข้อมูลของระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะสามารถตรวจสอบ และวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ เมื่อรู้ล่วงหน้า ก็จัดทำแนวป้องกันชั่วคราว ประทังไว้ก่อน บริเวณฟันหลอ อุดรูรั่วกำแพงเขื่อนกั้นเจ้าพระยา เตรียมพร้อม เพิ่มอุปกรณ์เสริม เช่น ปั้มสูบน้ำอัตโนมัติ
เร่งก่อสร้างเสริมแนวเขื่อนให้สมบูรณ์ ตลอดแนว แต่พึงระวังผลกระทบต่อชุมชน ต้องสร้างประตูระบายน้ำอัตโนมัติ เหมือนสิงคโปร์ โตเกียว ลอนดอน ที่สามารถเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ความแม่นยำสูง ที่เชื่อมโยงกับระบบพยากรณ์สภาวะอากาศ และระดับน้ำขึ้น น้ำลง เก็บข้อมูลสถิติระดับน้ำสูงสุด ที่เกิดจากน้ำหนุน ควบคู่กับการบริหารจัดการมวลน้ำเหนือที่ไหลผ่าน กทม. เพื่อประกอบการวางแผน และป้องกันล่วงหน้า อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
การออกแบบกำแพงเขื่อนแบบเดิมโอกาสพังเร็วมาก เพราะสภาวะการขึ้นลงของน้ำในปัจจุบัน รุนแรงกว่าในอดีต ดังนั้น อาจต้องออกแบบเป็นกำแพงสองชั้น
การแก้ปัญหาระยะยาว อาจจำเป็นต้องสร้างเขื่อนปากแม่น้ำ เปิด-ปิดได้ เหมือนเมืองอื่น เช่น เมืองเวนิส อิตาลี และ เมืองรอตเตอร์ดาร์ม เนเธอแลนด์
จากการจัดลำดับขององค์กร Climate Watch ในปี 2561 ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก หรือคิดเป็นปริมาณ 0.8% ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทั่วโลก ส่วนประเทศที่ปล่อยมากเป็นอันดับ 1 ของโลกคือจีนที่ (19.19%) รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา (18.13%)
การวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ภายในเวลาไม่ถึง 1 ทศวรรษ เว้นแต่ว่าเราจะลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง
ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาร่วมกันกับผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการ "ประชุม COP26" ที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อลดผลกระทบให้ทันท่วงทีในการลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก”
ที่มา : สำนักนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมเเละสิ่งเเวดล้อม Climate Watch ป่าสาละ