การประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ในวันที่ 26 พฤจิกายน2564 ซึ่งจะมีวาระขออนุมัติผู้ถือหุ้น ถึงแผน การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ตามแผนเพิ่มทุน 14,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องประคองตัวให้อยู่รอด ระหว่างรอให้สถานการณ์โควิดคลี่คลายและกลับมาบินได้100%อีกครั้งในปี2566 เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19
การปรับโครงสร้างกิจการใหม่ที่จะเกิดขึ้น AAV ได้ล้มแผนเดิมที่จะดัน บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TTA)เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) แทน AAV แต่หันมาใช้วิธีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใน AAV ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่แล้วในตลท. ด้วยการเพิ่มทุนกว่า 14,000 ล้านบาท ผ่านการออกหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้แก่ทั้งผู้ถือหุ้นรายใหม่และผู้ถือหุ้นปัจจุบัน เพื่อซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียทั้งหมด
โดยการระดมทุน 14,000 ล้านบาท จะมีการดำเนินการใน 3 ส่วน ได้แก่
1.เพิ่มทุนจดทะเบียนและเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนรายใหม่มูลค่าไม่เกิน 8,800 ล้านบาท ประกอบไปด้วยการเสนอขายแก่
2.การออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่ารวม 2,200 ล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนจำนวน 2 ราย มีอายุหุ้นกู้แปลงสภาพไม่เกิน 2 ปี โดยเสนอขายให้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1,200 ล้านบาท และ North Haven Thai Private Equity, L.P. มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเเปลงเป็นหุ้นสามัญรวมจำนวนไม่เกิน 1,257,142,857 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ทั้งนี้ นักลงทุนดังกล่าว ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ AAV ในระยะยาว และพร้อมจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเพิ่มเติมในอนาคตแก่ AAV
3.การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,714,285,714 หุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นรายเดิมตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) โดยมีอัตราส่วนการจัดสรรหุ้น 5.7625 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 1.75 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า หลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่26พ.ย.นี้ สายการบินจะขออนุมัติการปรับโครงสร้าง โดยเราจะไม่นำบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนบริษัทแอร์เอเชียเอวิเอชั่นจำกัด (มหาชน)หรือAAV แล้ว แต่เลือกที่จะปรับโครงสร้างในAAV ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว โดยเพิ่มทุนเข้าไป100% ซึ่งจะทำให้เราได้เงินเร็วและซับซ้อนน้อยกว่าแผนเดิมโดยคาดว่าจะได้เงินเข้ามาก้อนแรก 1.1 หมื่นล้านบาทในเดือนธันวาคม2564และอีก 3 พันล้านบาทในเดือนมกราคม2565
ดังนั้นจากปัจจุบันที่ TAA มี AAV ถือหุ้นอยู่ 55% และ แอร์เอเชีย มาเลเซีย ที่เพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น AirAsia Aviation Limited (“AAA”) ถืออยู่ 45%
แต่หลังจากปรับโครงสร้างใหม่ TAA ก็จะมี AAV เป็นผู้ถือหุ้น100% โดยAAA ของมาเลเซีย จะถือหุ้น 40.7% (ลดลงเล็กน้อยจากที่ถืออยู่ 45%) อื่นๆ 26.3% นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ 18% (ลดลงจากที่ถืออยู่เดิม40.5%) ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) 5.3% North Haven Thai Private Equity, L.P. 4.5% นักลงทุนบุคคลธรรมดา 5.2%
การเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 10,820 ล้านบาท) รวมถึงบริษัทฯ คาดว่าจะนำเงินส่วนที่เหลือจากภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นไปเพิ่มทุนในไทยแอร์เอเชียเป็นมูลค่าประมาณ 6,200 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของไทยแอร์เอเชียเพิ่มขึ้น (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ไทยแอร์เอเชียมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ (ขาดทุนเกินทุน)เท่ากับ 9,722 ล้านบาท)
สำหรับเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุน AAV จะใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่มีต่อสถาบันการเงิน3,900ล้านบาทซึ่งได้กู้ยืมเงินมาเพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของไทยแอร์เอเชีย ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของAAV ในไทยแอร์เอเชียเพิ่มขึ้นจากเดิม55% เป็น69.2% และใช้ซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียที่เหลือทั้งหมดอีก30.8%ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของไทยแอร์เอเชียราว 3,900 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของสายการบิน
เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการห้ามทำการบินในประเทศเมื่อรอบล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ ซึ่งผลการดำเนินการในช่วง9เดือนแรกของปี64 ขาดทุน10,248 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่6,641 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะยังไม่สามารถกลับมาเปิดบินได้เหมือนอดีต แต่ไทยแอร์เอเชีย ก็เดินแผนรับมือในเรื่องของการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อเพิ่มทุน 1.4 หมื่นล้านบาท ที่จะนำมาใช้เป็นกระแสเงิน ระหว่างรอธุรกิจเริ่มฟื้นตัวในปีหน้า โดยไทยแอร์เอเชียและกลับมาบินได้เต็มที่ในปี66เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด
ทั้งนี้ไทยแอร์เอเชียคาดการณ์ธุรกิจในปี2565ว่าจะไม่แย่กว่าปี64 โดยคาดว่าเส้นทางบินภายในประเทศจะกลับบินได้ 100% ตั้งแต่ต้นปี จากปัจจุบันหลังการคลายล็อกดาวน์ให้กลับมาเปิดบินในประเทศได้ในช่วงต.ค.64กลับมาบินได้20% ใช้เครื่องบิน 10 วัน วันละ40-50เที่ยวบิน เดือนพ.ย.64 บินได้40% ใช้เครื่องบิน20ลำ ราว 100 เที่ยวบินต่อวัน เดือนธ.ค.64 บินได้70-80% น่าใช้เครื่องบินได้30 ลำ เกือบ 200 เที่ยวบิน
ส่วนเส้นทางบินต่างประเทศไทยแอร์เอเชีย จะกลับมาบินมัลดีฟส์ในวันที่ 22 ธ.ค.64 เป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศสายแรก หลังไม่ได้บินมาเกือบ2ปี และคาดว่าไตรมาสแรกปีหน้าจะกลับมาบินต่างประเทศได้ อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง อินเดีย ซึ่งต้องมองหาประเทศที่เปิดการท่องเที่ยวเหมือนกับไทย เพราะวันนี้แม้ไทยจะเปิดประเทศ ที่ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา แต่หลายประเทศยังไม่เปิด เมื่อคนไทยเดินทางออกไปก็จะต้องถูกกักตัว ทำให้เมื่อมีแต่ผู้โดยสารขาเข้าแต่ขาออกไม่มี สายการบินก็จะยังไม่สามารถเปิดบินได้มากเหมือนในอดีต ส่วนไตรมาส2 หวังว่าจะเปิดบินจีนได้ ไตรมาส 3 จะเปิดเพิ่มได้อีกที่ญี่ปุ่นบางเมืองและจนถึงไตรมาส4 น่าจะบินเพิ่มได้สัก 60-70% และปี66 น่าจะกลับมาบินได้ 100% ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
ดังนั้นกว่าไทยแอร์เอเชียจะกลับมาบินได้เหมือนเดิม100% การตุนเงิน1.4หมื่นล้านบาทจึงเป็นทางรอดในการฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้น