นิคมอุตสาหกรรมจะนะ สู่หายนะสลายการชุมนุม กับเหตุผลทำไมต้องประท้วง

07 ธ.ค. 2564 | 04:28 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2564 | 11:43 น.

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" คืออะไร ทำไมประชาชนต้องประท้วง จนนำมาสู่สลายการชุมนุม

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หรือ ที่รู้จักกันว่าเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง

หลัง ตำรวจ คฝ. เข้าสลายการชุมนุมของประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ได้รวมตัวกันปักหลักค้างคืน บริเวณทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อตกลงกรณีปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะให้ครบถ้วน ตามที่ได้รัฐบาลได้ทำบันทึกข้อตกลงไว้กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ปี 2563  

 

นิคมอุตสาหกรรมจะนะ สู่หายนะสลายการชุมนุม กับเหตุผลทำไมต้องประท้วง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ฝ่ายรัฐบาลพยายามใช้เงื่อนไขคดีต่อรองให้ขาวบ้านเลิกชุมนุม เลิกค้านนิคมและกลับจะนะ จะเอารถไปส่ง  แลกกับการไม่ดำเนินคดี ชาวบ้านจะนะแม้ถูกกระทำ 

แต่กำลังใจยังดีเยี่ยม  บอกชัดเป็นหนึ่งเดียวว่าหากปล่อยออกมาก็จะมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบอีก  จุดยืนยังมุ่งมั่นความตั้งใจยังเด็ดเดี่ยว สู้อำนาจรัฐมารต้องทุ่มเท ไม่สยบยอมกับประยุทธ์ที่ไม่มีหัวใจ

ในพื้นที่จะนะเอง ประชาชนก็ตื่นตัวและโกธรรัฐบาลมาก  ได้มีการนัดหมายชุมนุมที่หาดสวนกง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และฐานที่มั่นการต่อสู้ของชาวบ้านจะนะ  เวลา 14.00 น. วันนี้ 

 

ฐานเศรษฐกิจ จะพาไปทำความรู้จักกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะฯ ว่าทำไมประชาชนในพื้นที่ต้องการให้หยุด และออกมาประท้วง

 

7 พ.ค. 62 ครม.อนุมัติให้มีการขยายโครงการฯ ไปสู่เมืองที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. อนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมอบอำนาจให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการเมื่อปี 2559

 

โครงการนี้ใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท คือ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่ พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่ และพื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่ พร้อมการนำของกิจการเอกชน 2 บริษัท ได้แก่ TPIPP และ IRPC และได้อนุมัติงบลงทุน 18,680 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้พูดคุยกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน

 

ประเด็นคือ พื้นที่ที่ไว้ใช้สำหรับทำเกษตรกรรมจะเป็นสีเขียวเท่านั้น หากจะเปลี่ยนให้ใช้สำหรับการลงทุน ต้องเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีม่วงเสียก่อน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ศอ.บต. ใช้อำนาจไม่ถูกต้องและหากเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีม่วงก็จะต้องทำเปิดรับฟังเสียงของคนในพื้นที่ก่อน

 

ล่าสุด นพ.สุภัทร ระบุว่า  ความยุ่งเหยิงของโควิดยังไม่หายฝุ่นตลบ ผังเมืองสีม่วงที่จะเปลี่ยนจะนะเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาด 2 หมื่นไร่ใน 3 ตำบลคือ นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม ก็เรื่มเดินหน้าอีกครั้งอย่างรีบเร่ง เปลี่ยนสีผังมืองเพื่อให้สร้างนิคมอุตสาหกรรมเอกชนของ TPIPP ที่ผลักดันขันแข็งโดย ศอ.บต. ใต้เงาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยมี รมช.นิพนธ์ บุญญามณี เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดการรวบรวมที่ดิน  จึงเดาได้เลยว่า ที่ต้องรีบเร่ง รอไม่ได้อีกแล้ว ก็เพราะรัฐบาลกำลังจะหมดอายุ อำนาจรัฐที่ใช้กดใช้บีบในพื้นที่ก็จะลดลงไป เหลือแต่อำนาจเงินที่ไร้ความชอบธรรม

 

นพ.สุภัทร  ระบุว่า นิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตแห่งอำเภอจะนะ มีองค์ประกอบของนิคมคร่าวๆคือ

  1. ส่วนของนิคมอุตสาหกรรม เบื้องต้นมีขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 7,000 ไร่ โดยมีทั้งส่วนอุตสาหกรรมหนักก้าวหน้า เช่นต่อตู้รถไฟ อุตสาหกรรมเบา และ biotech
  2.  ส่วนของโรงไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว ขนาด 2,900 ไร่ (ใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าจะนะในปัจจุบันราว 2 เท่า) เพื่อเลี้ยงนิคมและขายไฟให้ กฟผ. (โดยที่ กฟผ.ไม่ได้อยากซื้อ)
  3. ส่วนของท่าเรือน้ำลึกและพื้นที่หลังท่า โดยมีท่าเรือ 2 ท่า รองรับเรือที่กินน้ำลึก 16 เมตร ในขณะที่ทะเลจะนะตื้นมาก พร้อมพื้นที่กองคอนเทนเนอร์หลังท่า (พื้นที่กี่ไร่ ไม่ปรากฏข้อมูล)
  4. ส่วนของท่าเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม และคลังเก็บ โดยมีท่าเรือ 1 ท่า รองรับเรือที่กินน้ำลึก 16 เมตร พร้อมคลังถังเก็บก๊าซและน้ำมัน (พื้นที่กี่ไร่ ไม่ปรากฏข้อมูล)
  5. ส่วนของโซลาร์ฟาร์ม มีภาพของ solar farm ในแผนผังน่าจะมากกว่า 2,500 ไร่ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลรายละเอียดใดๆ
  6. ระบบรางและถนน จะมีการทำรถไฟรางคู่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟควนมีดกับท่าเรือ และมีถนนเข้านิคมฯเพื่อการขนถ่ายสินค้า

นิคมอุตสาหกรรมจะนะ สู่หายนะสลายการชุมนุม กับเหตุผลทำไมต้องประท้วง

29 มิถุนายน 2563  ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ เดินทางมายัง กทม. เพื่อยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต. หลังพบความผิดปกติหลายอย่างในฐานะผู้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

 

18 สิงหาคม 2563  ครม.มีมติให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดสงขลา ปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยการเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ตรงนั้นจากสีเขียวเป็นสีม่วง พร้อมอ้างผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากเวทีที่ ศอ.บต. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริง เวทีรับฟังความคิดเห็นกลับมีปัญหา มีความเห็นที่คัดค้านว่าเป็นเวทีที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นไปตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ. 2548

 

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 – 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ไว้กับรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move ซึ่งได้ยอมรับข้อเสนอของเครือข่ายฯ ที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.

 

โดยตั้งคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตามการแก้ไขปัญหากรณีโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ร่วมด้วย

 

พร้อมกับให้ยุติการดำเนินการใดๆในโครงการนี้เอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 16,700 ไร่ รวมทั้งการยุติการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA,EHIA) ทั้ง 4 โครงการ ของบริษัท TPIPP. และ IRPC. 

 

และรัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยมีหลักการประเมินโดยต้องตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนการของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อวางกรอบการศึกษาการเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบวนการทำงานให้ดำเนินการประเมินศักยภาพทรัพยากร และพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรของท้องถิ่น และในการศึกษานี้ต้องไม่มี ศอ.บต. เป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการจัดทำ

 

แต่เวลาผ่านไป 1 ปี รัฐบาลไม่มีการดำเนินการใดๆเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และยังเดินหน้าจัดทำกระบวนการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนสีผังเมืองจากพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นสำหรับประกอบอุตสาหกรรม สำหรับนิคมอุตสาหกรรมกว่า 16,700 ไร่ และมีการเดินหน้าจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA,EHIA) ทั้ง 4 โครงการ ของบริษัท TPIPP ซึ่งผิดเงื่อนไขข้อตกลงที่ได้มีการลงนามกันไว้

นิคมอุตสาหกรรมจะนะ สู่หายนะสลายการชุมนุม กับเหตุผลทำไมต้องประท้วง

 

เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.64 เวลาประมาณ 21.20 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ตำรวจติดอุปกรณ์ปราบม็อบนับร้อยนาย และรถผู้ต้องขัง 2 คัน เข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านจะนะหรือเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกว่า 50 ชีวิต หลังเดินทางจากจังหวัดสงขลามายังกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเย็นวาน เพื่อเข้าชุมนุมอย่างสันติเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่รัฐเคยให้ไว้กับชาวจะนะในการตรวจสอบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ นำโดย นางสาว ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวทะเลจะนะ