จากกรณีเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ เทเลนอร์ ประกาศข้อตกลงเบื้องต้นตั้งบริษัทฯใหม่ถือหุ้นเท่ากันในสัดส่วน 50:50 ดีลครั้งนี้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2565
ทั้ง 2 บริษัทมีเป้าหมายร่วมกันก้าวไปสู่การเติบโตใหม่ๆ ในฐานะ “เทคคัมปะนี” (Tech Company) ขยายขอบเขตไปสู่บริการดิจิทัล ที่มองไกลไปถึงเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) ขณะที่บริการโครงสร้างพื้นฐานในฐานะโครงข่ายมือถือจะกลายเป็น 1 ในธุรกิจหลากหลายในเครือ
เป้าหมายที่สำคัญเมื่อควบรวมสำเร็จจำนวนฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 51.3 ล้านราย แบ่งเป็น ปัจจุบัน TRUEMOVE H จำนวน 32 ล้านเลขหมาย และ DTAC อยู่ที่ 19.3 ล้านเลขหมาย มากกว่า AIS มีผู้ใช้บริการจำนวน 43,657,900 เลขหมาย
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมนานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยว่า ไม่มีใครสบายใจเพราะทางเลือกน้อยลง ขณะที่ข้อกฎหมายไม่มีเขียนระบุไว้ในเรื่องนี้ ดังนั้นในเมื่อไม่มีกฎหมายไม่สามารถห้ามทั้งสองบริษัทฯควบรวมธุรกิจระหว่างกันได้ ปัจจุบัน มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว คือ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)
"สุดท้ายแล้วตามหลักเศรษฐศาสตร์ แม้จะมีผู้ประกอบการ 1 ราย หรือ 2 ราย และ 3 ราย ถ้าทั้งสามรายจะฮั้วธุรกิจ สามารถ ฮั้ว ได้ เพราะธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจสัมปทานให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน" นายชัยวุฒิ กล่าว.