“TRUE-DTAC” ควบรวมกิจการ กูรู TDRI ย้ำสัญญาณอันตรายปล่อยผูกขาด 2 ราย

03 ธ.ค. 2564 | 14:40 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2564 | 22:03 น.

“TRUE-DTAC” ประกาศควบรวมกิจการ “นิพนธ์” กูรูแห่ง TDRI เผยแพร่บทความออกมาตอกย้ำอันตรายปล่อยตลาดให้มีผู้บริการ 2 ราย

จากรณีที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ตกลงเบื้องต้นเป็นพันธมิตรธุรกิจจัดตั้งบริษัทฯใหม่ควบรวมกิจการร่วมกันและประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

 

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ไล่เรียงตั้งแต่ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) รวมไปถึง นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  หรือ TDRI ออกมาคัดค้านเรื่องควบรวมธุรกิจในครั้งนี้

 

 

ล่าสุดวันนี้ (3 ธ.ค.)  ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เผยเเพร่บทวิเคราะห์กรณีการควบรวมทรูกับดีเเทค  ว่าข่าวการควบรวมระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) เป็นข่าวใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่งในปีนี้ เพราะนอกจากจะมีผลกระทบด้านการเงินการลงทุนแล้ว ยังจะมีผลกระทบมหาศาลต่อผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้บริการโทรคมนาคม รวมทั้งธุรกิจด้านฟินเทค ซัพพลายเออร์ ผู้ค้าปลีก-ค้าส่งโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ตลอดจนบริการต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยเครือข่ายของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม

 

 

บทความนี้นอกจากจะอธิบายผลกระทบดังกล่าว โดยเน้นผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดโทรคมนาคม พฤติกรรมของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และคลื่นความถี่ รวมทั้งผู้บริโภคแล้ว บทความฉบับนี้จะวิเคราะห์ทางออกและข้อจำกัดของนโยบายและกฎหมายโทรคมนาคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมธุรกิจและการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะปัญหาความยากลำบากในการกำกับควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่

 

 

 

รูปแบบและเหตุผลของการควบรวมธุรกิจ

 

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 บริษัทเทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทคได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ (press release) ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าขั้นตอนการควบรวมกันจะเริ่มจากการทำคำเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจ (voluntary tender offer) ในหุ้นทั้งหมดของสองบริษัท โดยจะซื้อหุ้นของดีแทคในราคา 47.76 บาท (vto price) และหุ้นของทรูในราคา 5.09 บาท หลังจากนั้นจะจัดตั้งบริษัทใหม่ที่บริษัทลูกของสองฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน (ข่าวใช้คำว่า amalgamation) 

 

 

โดยกำหนดอัตราการแลกหุ้นทรู 10.2121 หุ้นต่อหนึ่งหุ้นของดีแทค เพื่อให้ทั้งสองบริษัทมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของในบริษัทใหม่ที่เท่ากัน (หรือที่ทรูและดีแทคเรียกว่า การร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน equal partnership ที่ตอนแรกสร้างความสับสนว่าหมายถึงอะไร)รองประธานฝ่ายบริหารของกลุ่มเทเลนอร์ระบุชัดเจนว่าหลังควบรวมจะร่วมกับหุ้นส่วนอื่น ๆ ระดมทุน 100 -200 ล้านเหรียญเพื่อสร้างกองทุน venture capital สนับสนุนธุรกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัล (digital startups) ที่มีสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่มีอนาคตดี

 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการแถลงเหตุผลเบื้องหลังแท้จริงที่เทเลนอร์ตัดสินใจให้ดีแทคควบรวมกับทรู ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนเทเลนอร์ก็ตัดสินใจให้บริษัทลูกด้านโทรคมนาคม (Celcom Digi) ในมาเลเซีย ควบรวมกับ Celcom Axiata ในลักษณะการร่วมมืออย่างเท่าเทียมแบบเดียวกับการควบรวมทรูกับดีแทค ทั้งคู่เป็นบริษัทอันดับสองและสามเหมือนในไทย มีข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ระบุว่า กลุ่มเทเลนอร์อาจพบว่าการทำธุรกิจของบริษัทต่างชาติในประเทศอื่นไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และไม่ได้รับความสะดวกเท่ากับบริษัทของคนในชาติ การแข่งขันจึงไม่ยุติธรรม

 

 

 

TRUE-DTAC

 

ผลกระทบของการควบรวม                               

การควบรวมธุรกิจมีทั้งผลดีและผลเสียต่อธุรกิจ เศรษฐกิจและผู้บริโภค

ผลดี ที่ชัดเจนเกิดจากการที่บริษัททั้งสองต่างมีความเชี่ยวชาญต่างกัน เกิดการประสานพลังกัน (synergy) ตามเอกสารแถลงข่าวของกลุ่มเทเลนอร์ข้างต้นระบุว่าการควบรวมจะก่อประโยชน์จากจุดเด่นที่สุดของแต่ละฝ่าย  ขณะที่กลุ่มซีพีมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เกี่ยวข้องในวงการโทรคมนาคม เทเลนอร์มีประสบการณ์สูงด้านธุรกิจดิจิทัลในเอเชีย 

 

นอกจากนั้นการควบรวมจะช่วยให้ ซีพีสามารถเพิ่มการลงทุนโดยไม่ต้องก่อหนี้ที่ปัจจุบันเป็นภาระหนักอึ้ง ต้นทุนการทำธุรกิจของทั้งคู่น่าจะลดลง อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ด้านการเงินต่างให้ความเห็นว่าคงต้องใช้เวลานานก่อนที่การควบรวมจะเกิดประโยชน์ที่ชัดเจนต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น (เช่น ประสิทธิภาพของเครือข่าย คุณภาพของบริการและประเภทบริการใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เป็นต้น)   เพราะกว่ารูปแบบบริษัทใหม่จะลงตัวคงใช้เวลาอีกหลายเดือน รวมทั้งปัญหาวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกันระหว่างระบบเถ้าแก่ กับระบบตะวันตกที่เน้นความโปร่งใสต่อผู้ถือหุ้น  

 

หลังจากข่าวการควบรวม มีนักวิชาการ กลุ่มผู้บริโภคและสื่อต่าง ๆ ที่ให้ข้อคิดเห็นเรื่องผลกระทบต่อราคาค่าบริการและคุณภาพของบริการ ประเด็นหลักคือ ผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจที่ใช้บริการโทรคมนาคมและดิจิทัลจะมีมากน้อยเพียงใด ต้องพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดที่จำนวนผู้ให้บริการจะลดจาก 3 รายเหลือ 2 ราย  ทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล (ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมข้างล่าง) เดิมส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการ 3 รายคือ เอไอเอส 46% ทรู 32% และดีแทค 22%  (ฟิทซ์ เรทติ้งส์ ประชาชาติธุรกิจ 23 พฤศจิกายน 2564) เปลี่ยนไปเป็นบริษัทใหม่จากการควบรวมจะมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คือ 54%

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ในรายการตอบโจทย์ เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564) ให้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าในอดีตเมื่อมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียง 2 ราย นอกจากค่าบริการจะแพงลิบ โปรโมชั่นน้อย คุณภาพบริการแย่แล้ว ผู้ให้บริการยังสามารถใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การที่ผู้ให้บริการรายหนึ่งใช้อีมี่ (International Mobile Equipment Identity หรือ IMEI ที่เป็นหมายเลขเฉพาะตัวเองของโทรศัพท์ในระบบ GSM ที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาเครื่องถูกขโมยในสมัยก่อน) บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องซื้อเครื่องของผู้ให้บริการรายดังกล่าวด้วย แต่หลังจากมีผู้ให้บริการ 3 ราย การแข่งขันก็ดุเดือดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ 

 

ถึงแม้จะมีข่าวว่ามีความพยายามหลายครั้งที่ผู้ให้บริการทำข้อตกลงร่วมมือกันบางเรื่อง แต่หลังจากนั้นกลับไม่เคยมีใครทำตามข้อตกลงดังกล่าว อีกตัวอย่างคือโอเปค ที่หลายครั้งประเทศสมาชิกรายใหญ่พยายามให้สมาชิกทุกประเทศลดหรือดำรงปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อขึ้นราคาน้ำมัน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะจะมีประเทศสมาชิกบางรายที่เบี้ยวไม่ทำตามข้อตกลง นี่คือข้อดีของการมีคู่แข่งขันมากราย 

 

อันตรายของการปล่อยให้ตลาดมีผู้ให้บริการเพียง 2 ราย ผู้ให้บริการไม่ต้องเสียเวลาแอบประชุมทำข้อตกลงกันแบบลับ ๆ วิธีง่าย ๆ ตรงไปตรงมา คือ ผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดขึ้นราคาก่อน ผู้ให้บริการอีกรายก็จะทำตามทันที เพราะต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ ไม่ต้องทำสงครามราคากัน หรือแข่งขันกันในเรื่องต่าง ๆ ให้เหนื่อย 

 

ในอดีตเมื่อหนังสือพิมพ์ยังเป็นสื่อหลักของสังคม สื่อหัวสีฉบับหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด สามารถขึ้นราคาหนังสือพิมพ์ของตนได้อย่างง่ายดายทุกครั้งที่ต้นทุนค่ากระดาษสูงขึ้น หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ ที่ต่างก็มีส่วนแบ่งตลาดเล็กน้อย จำต้องขึ้นราคาตามทั้ง ๆ ที่บางครั้งการขึ้นราคาตามผู้นำจะทำให้ตนเสียลูกค้าไปบางส่วนก็ตาม

นอกจากนั้น การมีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย จะทำให้รัฐได้เงินค่าประมูลคลื่น 6G ลดลง ในอนาคต

 

กฎหมายและการกำกับควบคุมธุรกิจโทรคมนาคม

 

คลื่นความถี่เป็นสมบัติสำคัญของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายกำกับควบคุมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ การควบรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ย่อมมีผลกระทบอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องมีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต โดยการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการ และการลงทุนรับมือกับความท้าทายด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆในอนาคต กับ ผลเสียที่จะเกิดกับประชาชนและธุรกิจผู้ใช้บริการโทรคมนาคม

 

ธุรกิจโทรคมนาคมอยู่ภายใต้การบังคับของกฎมายหลายฉบับ ที่สำคัญคือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุและกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 และฉบับแก้ไข รวมทั้ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และฉบับแก้ไข นอกจากนี้กิจการโทรคมนาคมยังอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายแข่งขันทางการค้าอีกด้วย

 

ประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวม และการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ระบุความหมายของการควบรวมกิจการ วิธีการและขั้นตอนของการขออนุญาตควบรวม และที่สำคัญที่สุด คือ ประกาศหมวดที่ 2 ข้อ 8 ที่ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ “เชิงปริมาณ” ในการวัด “ระดับการครอบงำตลาด” อย่างชัดเจน โดยการพิจารณาจากค่าดัชนีการกระจุกตัว หรือดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (Herfindahl-Herschman index – HHI) ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาด ก่อนและหลังการควบรวม กล่าวคือ หากก่อนการควบรวม ค่า HHI มากกว่า 1,800 แล้วหลังการควบรวม ปรากฏว่าค่า HHI เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% แสดงว่าการควบรวมกิจการทำให้ตลาดมี “การกระจุกตัวสูง” ให้ถือว่าการควบรวมส่งผลด้านลบต่อการแข่งขันจนถือว่าเป็น “การครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง”

 

ก่อนการควบรวมระหว่าง ทรูกับดีแทค ค่า HHI เท่ากับ 3,624 ซึ่งสูงกว่า 1,800 ตามหลักเกณฑ์ในประกาศฯข้อ 8 หากการควบรวมประสบความสำเร็จ ค่า HHI จะเท่ากับ 5,032 ซึ่งสูงอย่างน่าตกใจ (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตอบโจทย์ 22 พฤศจิกายน 2564) 

 

ดังนั้นถ้ายึดหลักเกณฑ์ HHI นี้ คณะกรรมการโทรคมนาคมจะต้องไม่อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง ทรูกับดีแทค โดยเด็ดขาด

 

แต่ประกาศฯข้อ 9 กำหนดข้อยกเว้นไว้ 4 ข้อ กล่าวคือ “แต่ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการควบรวมกิจการอาจทำให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง ให้คณะกรรมการสั่งห้ามการควบรวมกิจการ เว้นแต่เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ หรือเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ เพื่อประโยชน์สาธารณะ คณะกรรมการอาจสั่งอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้ โดยคำสั่งของคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สุด”

 

อุตส่าห์เขียนกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์เชิงปริมาณอย่างเคร่งครัด แต่คงไม่สำคัญเท่ากับข้อยกเว้นทั้งสี่ประการ ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง  

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองบริษัทแถลงข่าวโดยเน้นประโยชน์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ เทเลนอร์ให้ข่าวว่า “บริษัทใหม่จะสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการนำความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาให้บริการที่น่าสนใจและมีคุณภาพสูง”  ส่วนทรู เน้นประเด็นว่า การควบรวมจะทำให้มีการปรับโครงสร้างของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลก สามารถให้บริการเครือข่ายอัจฉริยะ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และดึงดูดคนเก่ง ๆ (ด้านดิจิทัล) มาทำธุรกิจในไทยตลอดจนการส่งมอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับลูกคา เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจด้านดิจิทัล 

 

ทางออก ???

โชคดีที่กฎหมายโทรคมนาคมฉบับใหม่ให้ทางออกที่จะสามารถดำรงโครงสร้างตลาดที่ยังคงมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 รายไว้ได้ พระราชกฤษฏีกาให้ใช้บังคับบทบัญญัติตามที่กำหนดในมาตรา 30 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2564 มาตรา 5 กำหนดให้สามารถโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ในวันก่อนที่ พรฎ. นี้ใช้บังคับ

 

ดีแทคเองก็สามารถขายใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ให้แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่นได้หากบริษัทไม่ต้องการทำธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยอีกต่อไป หรือหากยังต้องการทำธุรกิจต่อก็สามารถแสวงหาหุ้นส่วนธุรกิจอื่นที่เหมาะสม ในฐานะที่ดีแทคและบริษัทเทเลนอร์มีแนวทางการทำธรุกิจที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ดีแทคก็สมควรจะยึดหลักปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด เพราะแผนการควบรวมธุรกิจ ในขณะนี้จะส่งผลลบต่อการแข่งขันจนถือเป็นการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง

 

ฉะนั้นภาระกิจสำคัญของคณะกรรมการ กทสช. คือ การชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียของการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค งานสำคัญที่ต้องเตรียมการ คือ การกำหนด/จำกัดขอบเขตการใช้ดุลพินิจตามข้อยกเว้น 4 ข้อข้างต้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และ พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 21 (7) เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลยนินิจของเจ้าหน้าที่รัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฏหมายให้ชัดเจน คณะกรรมการ กสทช. ยังมีเวลาพอสมควรที่จะจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจดังกล่าวก่อนที่ทูรและดีแทคจะยื่นเรื่องของอนุญาตควบรวม

 

นอกจากนั้นในระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลยนิพิจ คณะกรรมการควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเปิดเผยรายงานการรับฟังความคิดเห็น

 

การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจจะช่วยให้คณะกรรมการพิจารณาอนุญาต/ไม่อนุญาตให้มีการควบรวมได้บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์เชิงภววิสัยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบ คำตัดสินจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ธุรกิจ และความมั่งคงแห่งรัฐ (เช่น การที่รัฐไม่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของธุรกิจใหญ่) ตลอดจนประโยชน์สาธารณะ

 

ปัจฉิมบท

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า และการพิจารณาอนุญาตให้ธุรกิจควบรวมกัน เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง โอกาสในการแก้ไขกฎหมายและการไม่อนุญาตให้ควบรวมคงมีน้อยมาก เพราะ ผู้บริโภคไม่มีพลังมากเท่าธุรกิจมูลค่าแสนล้าน แม้ผู้บริโภคจะมีจำนวนมาก แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายแข่งขันทางการค้ามักกระจัดกระจาย ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีผลประโยชน์ที่ชัดเจน สามารถผนึกกำลังกันได้อย่างเข้มแข็ง มิหนำซ้ำยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้พรรคการเมือง

 

แต่นั่นมิได้แปลว่าผู้บริโภคจะต้องหมดหวัง และหมดศรัทธากับกฎหมายแข่งขันทางการค้า บทเรียนในต่างประเทศมีหลักฐานชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงและการบังคับใช้กม.แข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง เกิดขึ้นได้หากฝ่ายการเมืองเข้าใจประโยชน์ของการแข่งขัน และเอาจริงกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้รับการสนับสนุนจากมวลชน

 

ในช่วง 12 ปีแรกนับตั้งแต่การตรากฎหมายต่อต้านการผูกขาดในสหรัฐอเมริกา (The Sherman Antitrust Act 1890) กฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงเสือกระดาษ เพราะศาลสูงสุดของสหรัฐฯยังคงตัดสินเข้าข้างธุรกิจใหญ่ จนกระทั่งปี 1902 ประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ประสบความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดกับกลุ่มผู้ผูกขาดรถไฟที่นำโดยอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพล นายเจพี มอร์แกน ในข้อหารวมหัวกันผูกขาด ด้วยพลังสนับสนุนของมหาชน ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินให้ยุบบริษัทดังกล่าว

 

ในสหภาพยุโรปเอง กรรมาธิการแข่งขันทางการค้าก็สามารถบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโป ว่าจะสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นธรรม และเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

 

ขณะนี้ ในสหรัฐอเมริกา การเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังสร้างความวิตกกังวลว่า นอกจากการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำลาย/หยุดยั้งการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยี (tech startup) การใช้ข้อมูลของผู้บริโภคอย่างไม่ชอบธรรมแล้ว นักวิชาการและนักการเมืองทั้งขั้วพรรคเดโมแครตและพรรครีพลับบลิกันต่างเกรงว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นจะมีอิทธิพลทางการเมืองด้วย ดังนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงแต่งตั้งทีมที่ปรึกษาหัวก้าวหน้าเข้ามาดูแลเรื่องนโยบายต่อต้านการผูกขาด

 

ผู้เขียนหวังว่าผู้บริโภค นักวิชาการและภาคประชาสังคมของไทยจะสามารถรวมพลังในการแสวงหาหลักฐานเชิงประจักษ์ และรณรงค์ให้สาธารณชน นักการเมืองและพรรคการเมืองไทยมีความเข้าใจอย่างแท้จริง ว่านโยบายแข่งขันทางการค้า คือ เสาหลักที่จะนำไปสู่ การพัฒนาและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ อันจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค 

 

การแข่งขันอย่างเท่าเทียมเท่านั้นที่จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยแข็งแกร่งขึ้น  ระบบเศรษฐกิจจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน.

 

 

ที่มา:  ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร