วันที่ 12 มกราคม 2564 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมายได้ดำเนินการศึกษาวิจัย และวิเคราะห์ในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2484 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ (ปี พ.ศ. 2558-2569) แผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) รวมถึงการบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
ปัญหาทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน โดยที่ทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกักเก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบาย หรือ แบ่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม การพลังงาน การสาธารณูปโภค การอุตสาหกรรม และการป้องกันความเสียหายแก่การเพาะปลูก อันเกิดจากน้ำ รวมถึงซ่อมแซมเสริมพนัง คันกั้นเก็บน้ำ อาคารชลประทาน และการขุดลอกทางน้ำชลประทาน ซึ่งที่มาของเงินทุนหมุนเวียนนี้มาจากค่าชลประทานที่เรียกเก็บ
แต่เมื่อในปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเพื่อเก็บค่าชลประทานจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำรายใหญ่ที่สุด ทำให้ทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานมีไม่เพียงพอในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ นอกจากนั้นในการบริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานไม่สามารถจัดทำรายงานตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เนื่องจากต้องรอรวบรวมข้อมูลจากโครงการชลประทานทั่วประเทศ ประกอบกับไม่สามารถควบคุมระยะเวลาในการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการรับฟังความคิดเห็น ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการปรับปรุง พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2484 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นั้น
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นเรื่องบ้า ที่จะมาเก็บค่าน้ำทำนา กล่าวคือ ทำนามากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ ไร่ละ 25 บาท/ปี คำว่าทำนา มากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่คืออะไร ไม่เข้าใจ ถามไปที่ประชุมก็ไม่เข้าใจ แล้วเพิ่งจะทราบวันนี้ ซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย จากนั้นจะส่งเข้า ครม. เห็นชอบต่อไป
“โหดร้ายกับชาวนามาก ที่กำหนดให้ออกกฎกระทรวงเพื่อเรียกเก็บค่าน้ำชลประทานจากผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทาน ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ใน หรือนอกเขตชลประทาน อย่างนี่เกษตรกรโดนทุกคน และที่ "อันตราย" ไปกว่านั้นก็คือ พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เอากฎหมายนี้มาพ่วงด้วย โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งการชลประทานเป็นโครงข่ายกิจการที่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้”
นายเดชา กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวนี้ ได้แจ้งไปที่สมาคมเป็นเรื่องที่ด่วนที่สุดที่จะให้มีการหารือช่วยดึงร่าง พ.ร.บฉบับนี้ก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็ช่วยกันแก้ไขร่าง พ.รบ.ฉบับนี้ให้ได้ เพราะการคิดคำนวณแบบนี้นำมาสูตรมาคิดอย่างไร
"ผมถามเลยว่ากรมชลประทานจะทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำใช่หรือไม่ ผมถามในที่ประชุม และตั้งข้อสงสัยว่า มีน้ำเกษตร น้ำอุปโภคบริโภค แล้วทำไมไม่มีมาตราไหน หรือวรรคไหน ที่เก็บค่าน้ำจากการอุตสาหกรรม หรือโรงงานอุตสาหกรรมเลย เชื่อว่าเกษตรกรทราบข่าวในเรื่องดังกล่าวไม่มีใครรับได้ แน่นอน