ซึ่ง ครม. จะนำร่างกฎหมายนั้นไปพิจารณาก่อนได้นั้น ต้องอาศัยเสียงอนุมัติ จากสภาผู้แทนราษฎร หากอนุมัติ สภาจะรอการพิจารณาร่างกฎหมายนั้นไว้ แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่สภามีมติ เท่ากับว่าระหว่าง 60 วันนี้ ครม. สามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษา ไปให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นทางกฎหมายได้
ถ้าสภาผู้แทนอนุมัติให้ ครม. นำร่างกฎหมายไปพิจารณาศึกษาก่อน 60 วันแล้ว สภาจะยังพิจารณาลงมติร่างกฎหมายนั้นต่อในวาระหนึ่งไม่ได้ ในทางปฏิบัติสภาก็จะพิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ที่อยู่ในลำดับถัดไป
เมื่อครบ 60 วัน ครม. ต้องนำร่างพระราชบัญญัติคืนประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีที่พ้นเวลา 60 วันไปแล้วประธานสภายังไม่ได้รับร่างกฎหมาย ให้ประธานสภาบรรจุร่างกฎหมายเป็นเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน ซึ่งจะอยู่ลำดับต้นๆ และได้พิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่นๆ
เท่ากับว่าท้ายที่สุดแล้ว เมื่อพ้นเวลา 60 วัน ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็จะพิจารณา อภิปรายร่างกฎหมาย และลงมติในวาระหนึ่ง ว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในสมัยประชุมหน้า จึงต้องรอเสียงการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
ฐานเศรษฐกิจจะพามาทบทวนว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต vs พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่างกันยังไง
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2556 ในยุครัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารย์ เพราะสิทธิ์ที่ได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันน้อยมาก แตกต่างจากการสมรส ของชาย-หญิงอย่างสิ้นเชิง
สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต
- “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
- กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
- กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
- กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
- กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
- คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
- เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
- กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม
สมรสเท่าเทียม
- การแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “สามีและภรรยา” เป็น “คู่สมรส”
- มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล
- ข้อวิจารณ์หลักที่มีการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ การไม่ครอบคลุมการเข้าถึงสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์บางประการของคู่ชีวิต เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรส
- ไอลอว์ ชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กำหนดถ้อยคำที่แยกออกมาเป็น “คู่ชีวิต” ทำให้คู่ชีวิตขาดโอกาส ในการเข้าถึงสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่รัฐได้กำหนดไว้ให้คู่สมรส เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรสตามประมวลรัษฎากร
การแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับการสมรส จากเดิมที่ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา เป็น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส
- ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็น ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยา เป็น คู่สมรส
การหมั้น
- ให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ทำการหมั้นกันได้
- เสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น แทนคำว่า ชาย และ หญิง
- แบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิ และหน้าที่ ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิม เพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น
การสมรส
- ให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 18 บริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
- สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า ชาย หรือ หญิง เป็น บุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น
- บุคคลซึ่งเป็นญาติ สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป หรือลงมา จะทำการสมรส กันมิได้
- บุคคลจะทำการสมรส ในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
- การสมรสจะทำได้ ต่อเมื่อบุคคลทั้งสอง ยินยอมเป็นคู่สมรส
- คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู ตามความสามารถ และฐานะของตน
- การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส
- การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
- การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีศาลสั่งให้เป็น คนไร้ความสามารถ
การรับบุตรบุญธรรม
- การรับมรดก กรณีผู้ตายมีคู่สมรส ต้องมีการแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างผู้ตาย กับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้นำเรื่อง ส่วนแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่ โดยยังมิได้หย่ากันตามกฎหมาย ยังคงมีสิทธิโดยธรรม ในการสืบมรดก ซึ่งกันและกัน
- การ สมรสเท่าเทียม จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกัน สามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถได้รับสิทธิในการสมรส
- สิทธิในการใช้นามสกุล
- สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัด ให้ยา หรือหยุดรักษาในกรณีเร่งด่วน
- สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
- สิทธิในการกู้เงินซื้อบ้านและทำประกันชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรส
- สิทธิทางมรดก คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับอื่น
- สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม
- สิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณบัตร
- สิทธิในการใช้สถานะสมรสเพื่อลดหย่อนภาษี
- สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
- สิทธิเข้าเยี่ยมในเรือนจำกรณีที่นักโทษป่วย ในฐานะคู่สมรส
- สิทธิในการขอวีซ่าเดินทาง กรณีบางประเทศต้องตรวจสอบยอดเงินในบัญชี คู่สมรสสามารถยื่นบัญชีของอีกฝ่ายเป็นหลักฐานได้
อ้างอิงข้อมูล : iLaw ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ